ร่างกรอบการเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 16:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมและสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษารายละเอียดการร่วมทุนก่อสร้างโครงการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

2. เห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และให้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

3. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนตามมาตรา 190 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข้อเท็จจริง

กระทรวงคมนาคมเสนอว่า

1. เพื่อดำเนินงานความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายจีนได้สอบถามความคืบหน้าประเด็นเรื่องการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก (Preferential Export Buyer’s Credits) จำนวน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามผลการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้รายงานผลความคืบหน้าเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประเด็นปัญหาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553

2. Mr.Zheng Mingli หัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวงรถไฟจีน พร้อมคณะ ได้เยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม 2553 โดยได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ คณะผู้แทนกระทรวงรถไฟจีนได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคม สำรวจเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดหนองคาย และได้มีประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ณ จังหวัดหนองคาย สรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้

2.1 ผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นของแนวเส้นทางรถไฟขนาดทางมาตรฐานช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร (เป็นโครงสร้างอุโมงค์ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร และเป็นโครงสร้างทางยกระดับ 59 กิโลเมตร) โดยได้มีการหารือความเป็นไปได้ในการออกแบบทางรถไฟ เพื่อรองรับการเดินขบวนรถที่ความเร็วไม่น้อยกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้พลังงานขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าซึ่งผลสำรวจเบื้องต้นมีเขตทางเพียงพอที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว

2.2 ทั้ง 3 ฝ่ายได้ร่วมกันสำรวจสภาพพื้นที่และศึกษาตำแหน่งที่จะดำเนินการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยฝ่ายลาวเสนอให้มีการประชุมร่วมระหว่างประเทศไทย-ลาว ในเบื้องต้นก่อนการประชุมร่วม 3 ฝ่ายระหว่างไทย-ลาว-จีนต่อไป ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเชิญรัฐมนตรีฝ่ายลาวหารือร่วมกันโดยเร็ว

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เดินทางไปประชุมหารือเรื่องความร่วมมือการพัฒนารถไฟไทย-จีน ร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงรถไฟจีน ณ กระทรวงรถไฟ กรุงปักกิ่ง โดยได้มีการประชุมหารือร่วมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553 สรุปผลการหารือ ดังนี้

3.1 กระทรวงรถไฟจีน ได้รับทราบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 โดยแจ้งว่าพร้อมให้ความสนับสนุนแผนการปรับปรุงกิจการรถไฟครั้งใหญ่ของประเทศไทย ตามแผนการลงทุนฯ ตามนโยบายรัฐบาลไทย และได้ชื่นชมประเทศไทยที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาระบบรถไฟที่เป็นไปในระดับสากลซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักในการพัฒนาระบบรถไฟของสาธารณรัฐประชาจีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเช่นกัน คือ

(1) การพัฒนาระบบรถไฟเดิมที่มีอยู่ เพื่อปรับปรุงรถไฟปัจจุบันให้มีความสะดวกสบาย เพิ่มความเร็วในการเดินทางให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานความปลอดภัย

(2) เร่งรัดการขยายโครงข่ายทางรถไฟใหม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

(3) พัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาเส้นทางระบบรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองหลักที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเมือง

3.2 กระทรวงรถไฟจีน ได้แจ้งให้กระทรวงคมนาคมทราบถึงข้อตกลงร่วมกันระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่จะสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (1.435 เมตร) จากเมืองคุนหมิงมายังนครเวียงจันทน์ ระยะทาง 420 กิโลเมตร โดยได้เสนอให้มีการพัฒนาความร่วมมือในโครงข่ายเส้นทางรถไฟต่อขยายมายังประเทศไทย ที่บริเวณจังหวัดหนองคายจนถึงกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 580 กิโลเมตร และเชื่อมต่อไปยังจังหวัดระยอง ระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร

3.3 ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะให้มีการหารือระดับรัฐมนตรี 3 ฝ่าย ทั้งไทย-ลาว-จีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการพัฒนารถไฟโดยเร็ว และให้คณะทำงานของกระทรวงคมนาคม ประสานงานกับคณะทำงานด้านเทคนิคของฝ่ายจีนอย่างใกล้ชิดต่อไป

3.4 ฝ่ายจีนยินดีที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร การฝึกอบรม การศึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนารถไฟให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

4. สาระสำคัญของเรื่อง

4.1 วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการเจรจา

เพื่อให้รัฐบาลมีกรอบการเจรจาในการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อไป เพื่อให้ได้ข้อตกลงในการร่วมมือพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดของประเทศ และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

4.2 สาระสำคัญของกรอบการเจรจา

4.2.1 เส้นทาง : ความร่วมมือในการพัฒนากิจการรถไฟในเส้นทางหลัก 3 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯ — หนองคาย เส้นทางกรุงเทพฯ — ระยอง และเส้นทางกรุงเทพฯ — สุดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

4.2.2 การดำเนินการ : ความร่วมมือในการพัฒนาเพื่อก่อสร้างทาง การเดินรถไฟ และการบริหารจัดการกิจการรถไฟในเส้นทางที่ได้ตกลงไว้ตามข้อ 4.2.1 หรือการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.2.3 การจัดหาพื้นที่ในการพัฒนา: ความร่วมมือในการจัดหาพื้นที่ในการก่อสร้างทาง การเดินรถ และการบริหารจัดการกิจการรถไฟ หรือการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในเส้นทางที่ได้ตกลง

4.2.4 การใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรร่วมกันในการพัฒนา : ความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกในใช้การเทคโนโลยีและทรัพยากรของแต่ละประเทศร่วมกันอย่างเหมาะสม

4.2.5 การถ่ายทอดเทคโนโลยี : ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ตลอดจน การพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

4.3 ข้อพิจารณาของคณะกรรมการฯ

4.3.1 การพัฒนาระบบการขนส่งรูปแบบรางสำหรับการขนส่งโดยสารและสินค้าที่สามารถเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค และรถไฟความเร็วสูงในการเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ในประเทศ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญร่างกรอบการเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เสนอจะเป็นความร่วมมือในการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งระบบรางที่สามารถเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคที่มีศักยภาพในการขนส่งโดยสารและสินค้าที่สูงกว่าโครงข่ายปัจจุบัน และเป็นโครงข่ายที่สามารถพัฒนาไปสู่รถไฟความเร็วสูงในการเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ในประเทศได้

4.3.2 ดังนั้น การนำเสนอร่างกรอบการเจรจาความร่วมมือจึงมีความจำเป็นต่อรัฐบาลในการเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้เกิดความตกลงในการร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทยที่เชื่อมต่อ มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศมากขึ้น รวมทั้งให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและการบริหารจัดการกิจการรถไฟร่วมกัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ