การจัดทำความร่วมมือกับ Canadian Nuclear Safety Commission แห่งประเทศแคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 16:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างการเตรียมการด้านการบริหารจัดการระหว่างคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งประเทศแคนาดา และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่มีผลกระทบต่อเนื้อหาสาระของร่างการเตรียมการฉบับนี้ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้นๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

2. อนุมัติให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นผู้ลงนามในหนังสือการเตรียมการฯ ดังกล่าวได้

3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่เลขาธิการสำนักงาน ปรมาณูเพื่อสันติ เป็นผู้ลงนามในร่างการเตรียมการฯ ดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) รายงานว่า

1. คณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งประเทศแคนาดา (Canadian Nuclear Safety Commission: CNSC) ได้เดินทางมาร่วมหารือกับผู้แทนของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เมื่อวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2552 เพื่อเสนอความร่วมมือกับสำนักงานฯ ในหัวข้อการเตรียมการด้านการบริหารจัดการระหว่างคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งประเทศแคนาดาและสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติด้านการนำเข้าและส่งออกต้นกำเนิดรังสี ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยโดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ไม่เคยมีความตกลงอย่างเป็นทางการในด้านนิวเคลียร์กับประเทศแคนาดา หากแต่มีการประสานงานกันอย่างไม่เป็นทางการในฐานะประเทศสมาชิกทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และประเทศไทยมีการนำเข้าส่งออกต้นกำเนิดรังสี ซึ่งแคนาดาเป็นประเทศที่สำคัญในการนำเข้าส่งออกต้นกำเนิดรังสี ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจในการนำเข้าส่งออกต้นกำเนิดรังสีของทั้งสองฝ่าย คณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งประเทศแคนาดา จึงได้จัดทำร่างการเตรียมการฯ ดังกล่าวขึ้นมา และได้เตรียมพิธีการลงนามในเอกสารความร่วมมือในการประชุมใหญ่สมัยสามัญของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ สมัยที่ 54 ที่จะจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 20 — 24 กันยายน 2553

2. การเตรียมการด้านการบริหารจัดการระหว่างคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งประเทศแคนาดา และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แห่งประเทศไทย เพื่อการนำเข้าและส่งออกต้นกำเนิดรังสี มีเจตนารมณ์ เป็นการจัดหาแนวทางเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการนำเข้าและส่งออกต้นกำเนิดรังสีระหว่างประเทศไทยและแคนาดา เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางด้านการนำเข้าและส่งออกต้นกำเนิดรังสีทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกต้นกำเนิดทางรังสีของหน่วยงานกำกับอยู่ในทิศทาง และมีความสอดคล้องถูกต้องตรงกัน

3. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติพิจารณาแล้วเห็นว่า ร่าง Administration Arrangement ระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งประเทศแคนาดาดังกล่าวเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ไม่มีผลต่อการสูญเสียดินแดนหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการจัดทำหนังสือสัญญาในลักษณะนี้ยังไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนยังสือ จึงเห็นควรให้ปฏิบัติตามแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 คือต้องนำหนังสือสัญญาดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการ ส่วนสาระสำคัญของร่างการเตรียมการดังกล่าว ไม่เข้าด้วยมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาแต่อย่างใด ทั้งนี้ ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อประกันว่าการนำเข้าและส่งออกต้นกำเนิดรังสีระหว่างไทยกับแคนนาดาตามร่างการเตรียมการฯ ดังกล่าว เป็นไปตามข้อกำหนดของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ปฏิบัติอยู่แล้ว นอกจานี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2406 และฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2508 สามารถรองรับพันธกรณีภายใต้ความตกลงฉบับนี้ ดังนั้น จึงไม่ต้องมีการออกกฎหมายฉบับใหม่ หรือแก้ไขฉบับเก่า เพื่อให้เป็นไปตามความตกลง

4. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ พิจารณาเห็นว่า ร่างการเตรียมการฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อประกันว่าการนำเข้าและส่งออกต้นกำเนิดรังสีระหว่างไทยกับแคนาดา จะเป็นไปตามข้อกำหนดของ IAEA จึงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากส่วนราชการเจ้าของเรื่องสามารถปฏิบัติได้ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับที่มีอยู่โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ร่างการเตรียมการฯ ฉบับนี้ก็ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ