ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ และดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนกรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 17:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ และดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนกรกฎาคม 2553 ของกระทรวงพาณิชย์ ดังนี้

กระทรวงพาณิชย์ มีการปรับปรุงการจัดทำดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ โดยปรับเปลี่ยนน้ำหนักจากปี 2551 เป็นปี 2552 ใช้มูลค่าการส่งออก-นำเข้า จากกรมศุลกากรเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก และได้มีการปรับปรุงรายการสินค้าที่ใช้คำนวณในปี 2553 คือ ดัชนีราคาส่งออก จำนวน 1,138 รายการ และดัชนีราคานำเข้า จำนวน 909 รายการ เพื่อให้สะท้อนภาวะการค้าของประเทศที่เป็นปัจจุบันแต่ยังคงปีฐาน 2550 = 100

กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศในรูปเงินเหรียญสหรัฐ ดัชนีราคาส่งออก เดือนกรกฎาคม 2553 เทียบกับเดือนที่ผ่านมา ไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับดัชนีราคานำเข้า สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดสินค้าทุน

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนกรกฎาคม 2553

ในปี 2550 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนกรกฎาคม 2553 เท่ากับ 119.8 และเดือนมิถุนายน 2553 เท่ากับ 119.8

1.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 ไม่เปลี่ยนแปลง เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 8.2 เฉลี่ย มกราคม-กรกฎาคม ปี 2553 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 10.6

1.3 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2553 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 ไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนมิถุนายน 2553 ลดลงร้อยละ 0.2) แต่มีการเปลี่ยนแปลงในหมวดย่อย คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.0 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 1.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 2.1 ส่วนหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ไม่เปลี่ยนแปลง

สินค้าส่งออกที่ราคาลดลง

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.0 (เดือนมิถุนายน 2553 ลดลงร้อยละ 0.9) จากการลดลงของสินค้ากสิกรรม ที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงจากความต้องการของตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีน และผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง สำหรับข้าวเนื่องจากปัญหาการแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย และการแข็งค่าของเงินบาท

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.9 (เดือนมิถุนายน 2553 ลดลงร้อยละ 1.8) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว สังกะสี และน้ำมันสำเร็จรูป

สินค้าส่งออกที่ราคาสูงขึ้น

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 2.1 (เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้น ร้อยละ 0.7) จากการสูงขึ้นของน้ำตาลทรายดิบเนื่องจากวัตถุดิบ คือ อ้อยราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าว ราคาสูงขึ้นเช่นกัน

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนมิถุนายน 2553 ไม่เปลี่ยนแปลง) สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก และยานพาหนะ สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง

1.4 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2553 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 8.2 จากการสูงขึ้นของทุกหมวด ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 35.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 8.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.9 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้น ร้อยละ 17.0

1.5 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเฉลี่ยมกราคม-กรกฎาคม 2553 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 10.6 จากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 39.4 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 7.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.7 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 39.3

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนกรกฎาคม 2553

ในปี 2550 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนกรกฎาคม 2553 เท่ากับ 117.8 และเดือนมิถุนายน 2553 เท่ากับ 117.4

2.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อเทียบกับ เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 เดือนกรกฎาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 6.7 เฉลี่ย มกราคม-กรกฎาคม ปี 2553 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 สูงขึ้นร้อยละ 9.5

2.3 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกรกฎาคม 2553 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (เดือนมิถุนายน 2553 ลดลงร้อยละ 0.3) เป็นผลจากการสูงขึ้นของหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.4 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปและหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นเท่ากัน คือ ร้อยละ0.7 และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.6 สำหรับหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 1.0

สินค้านำเข้าที่ราคาสูงขึ้น

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.6 (เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยทองแดง อลูมิเนียมและเหล็ก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.7 (เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 1.0) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ สัตว์น้ำสดแช่เย็นแช่แข็ง (ปลาทูน่า ปลาแซลมอล กุ้ง ปลาหมึก) โดยเฉพาะปลาทูน่าราคาปรับตัวสูงขึ้นมากเนื่องจากปริมาณออกสู่ตลาดน้อย นอกจากนี้เคมีภัณฑ์ เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.7 (เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม ยารักษาโรค เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน(เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ลำโพง ชิ้นส่วนโทรทัศน์) และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 1.4 (เดือนมิถุนายน 2553 สูงขึ้นร้อยละ 0.5) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ รถยนต์โดยสารและบรรทุก ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

สินค้านำเข้าที่ราคาลดลง

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.0 (เดือนมิถุนายน 2553 ลดลงร้อยละ 3.6) ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ราคาอ่อนตัวลงตามภาวะตลาดโลก

2.4 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกรกฎาคม 2553 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 6.7 ปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นมากถึงร้อยละ 13.1 หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 3.0 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.7 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.5 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 5.8

2.5 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเฉลี่ยมกราคม-กรกฎาคม 2553 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 9.5 จากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 29.5 หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 3.2 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.4 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.5 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 5.5

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ