สรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กันยายน 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 17:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กันยายน 2553) ของกระทรวงมหาดไทย ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม -6 กันยายน 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 25 จังหวัด 93 อำเภอ 401 ตำบล 2,573 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พะเยา พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ มุกดาหาร สระบุรี นครนายก ลพบุรี ชัยภูมิ อุดรธานี สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และจังหวัดอุบลราชธานี ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 156,847 ครัวเรือน 548,579 คน อพยพ 116 ครัวเรือน 461 คน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย 248,337 ไร่ ผู้เสียชีวิต 2 ราย (พะเยา 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย)

1.2 สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มุกดาหาร สระบุรี นครนายก ลพบุรี ชัยภูมิ อุดรธานี สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และจังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้

1) จังหวัดสุโขทัย น้ำในแม่น้ำยมเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรริมฝั่งในพื้นที่ 8 อำเภอ 71 ตำบล 542 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 25,415 ครัวเรือน 95,796 คน ได้แก่ อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมือง อำเภอกงไกรลาศ อำเภอคีรีมาศ อำเภอทุ่งเสลี่ยม และอำเภอบ้านด่านลานหอย ซึ่งเป็นที่รับน้ำจากทางเหนือ ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอกงไกรลาศ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้

2) จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากยังมีน้ำไหลจากจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดแพร่ อย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำในลำน้ำยมมีปริมาณสูงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎรริมฝั่งในพื้นที่อำเภอบางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากจังหวัดสุโขทัย และยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มของอำเภอวังทอง 3 ตำบล (ตำบลบ้านกลาง วังพิกุล และตำบลแก่งโสภา) ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

3) จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 เวลา 05.00 น. น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ 12 ตำบล 79 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอหล่มเก่า อำเภอหนองไผ่ และอำเภอวังโป่ง ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันนี้

4) จังหวัดมุกดาหาร ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรใน 7 อำเภอ 35 ตำบล 367 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล อำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี อำเภอว่านใหญ่ และ อำเภอหนองสูง ราษฎรได้รับความเดือนร้อน 8,827 ครัวเรือน 22,500 คน อพยพ 116 ครัวเรือน 461 คน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายสำราญ วังคำ อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 160 หมู่ที่ 4 ตำบลโพนงาม อำเภอคำชะอี (เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ส.ค.53 บริเวณสะพานห้วนแคน บ้านโพนไฮ หมู่ที่ 3 ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง เนื่องจากถูกน้ำป่าพัดตกสะพาน) พื้นที่การเกษตรเสียหาย 73,164 ไร่ ถนน 205 สาย ท่อระบายน้ำ 25 แห่ง ฝาย 12 แห่ง บ่อปลา/กุ้ง 414 บ่อ คาดว่าจะเข้าภาวะปกติในวันพรุ่งนี้

5) จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 5 อำเภอ 16 ตำบล 23 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอบ้านหมอ อำเภอวิหารแดง อำเภอเมือง อำเภอหนองแค และอำเภอแก่งคอย ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่และเขตเทศบาลตำบลหนองแค อำเภอหนองแค คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันนี้

6) จังหวัดนครนายก ระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 2 อำเภอ 8 ตำบล ได้แก่ อำเภอปากพลี และอำเภอบ้านนา คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันนี้

7) จังหวัดลพบุรี ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2553 มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังที่ลุ่มต่ำการเกษตรและเขตเทศบาลเนื่องจากระบายไม่ทันในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโคกสำโรง และอำเภอเมือง ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในวันพรุ่งนี้

8) จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและ ที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 2 อำเภอ 6 ตำบล 101 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอหนองบัวระเหว และอำเภอภักดีชุมพล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,500 ครัวเรือน 14,000 คน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

9) จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 2 อำเภอ 2 ตำบล ได้แก่ อำเภอน้ำโสม และอำเภอนายูง ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

10) จังหวัดสกลนคร มีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอโพนนาแก้ว อำเภออากาศอำนวย อำเภอบ้านม่วง อำเภอสว่างแดนดิน และอำเภอวานรนิวาส ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลง

11) จังหวัดขอนแก่น มีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแวงใหญ่ และอำเภอชนบท ความเสียหายอยู่ระห่างการสำรวจ ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลง

12) จังหวัดมหาสารคาม มีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงยืน และอำเภอโกสุมพิสัย ปัจจุบันระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง

13) จังหวัดร้อยเอ็ด มีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มการเกษตรในพื้นที่ 5 อำเภอ 22 ตำบล 114 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเสลภูมิ อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอโพธิ์ชัย และอำเภอโพนทอง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3,228 ครัวเรือน 9,684 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 26,173 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลง

14) จังหวัดกาฬสินธุ์ มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร 10 อำเภอ 79 ตำบล 703 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอกมลาไสย อำเภอร่องคำ อำเภอนาคู อำเภอฆ้องชัย อำเภอดอนจาน อำเภอเมือง อำเภอเขาวง อำเภอยางตลาด อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอกุฉินารายณ์ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 91,834 ครัวเรือน 335,733 คน พื้นที่การเกษตรจำนวน 32,326 ไร่ บ่อปลา 62 บ่อ ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

15) จังหวัดอุบลราชธานี มีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเหล่าเสือโก้ก อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอม่วงสามสิบ และอำเภอดอนมดแดง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,988 ครัวเรือน 11,643 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,609 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

  • จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2553 มีฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทันในพื้นที่ อำเภอเมือง 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองบัวศาลา (หมู่บ้านจามจุรี) และตำบลหัวทะเล (หมู่บ้านวรการ โครงการ 4,5,8) ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา ได้ส่งชุด ERT (ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ) 18 นาย พร้อมอุปกรณ์ รถยูนิมอค เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เข้าช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว หากไม่มีฝนตกเพิ่มสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในวันนี้

1.3 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ

1) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง จัดส่งรถผลิตน้ำดื่ม จำนวน 1 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 3 คัน และกำลังพล จำนวน 12 นาย สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2553

ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร สนับสนุนเรือท้องแบน 7 ลำ กำลังพล 10 นาย สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร

ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 พิษณุโลก จัดส่งกำลังพล 15 นาย เรือท้องแบน 5 ลำ รถบรรทุกติดปั้นจั่น 1 คัน รถส่องสว่าง 1 คัน รถกู้ภัยขนาดเล็ก 1 คัน รถบรรทุก 2 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์

2) กรมชลประทาน

ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,200 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามจังหวัดต่าง ๆ ปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 595 เครื่อง ในพื้นที่ 52 จังหวัด

3) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก

  • ฉก.ร.7 และร้อย ร.751 จัดกำลังพลรวม 35 นาย และ รยบ. 2 1/2 ตัน จำนวน 2 คัน เข้าให้การช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของกับราษฎร ในพื้นที่ บ้านนาหมากปน ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ม.พัน 12 จัดกำลังพลรวม 65 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์ เข้าช่วยเหลือ ในการลอกคลอง ตัดต้นไม้ที่ล้มกีดขวางการไหลของน้ำ ขนย้ายสิ่งของ และทำความสะอาดบ้านเรือนที่ถูก น้ำท่วมในพื้นที่ บ้านไผ่โทน ตำบลไผ่โทน และบ้านร้องกวาง ตำบลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง และบ้านปงคำ ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่
  • ม.พัน.7 จัดชุดบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 2 ชป.(24 นาย) และ รยบ.2 1/2 ตัน จำนวน 1 คัน เข้าให้การช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของให้กับราษฎร ในพื้นที่ ตำบลสองคอน และตำบลฟากท่า อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์
  • จทบ.น.น. จัดกำลังพล จำนวน 36 นาย รยบ. จำนวน 3 คัน และเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ จำนวน 3 ลำ จาก ช.พัน.302 เข้าให้การช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของ แจกจ่ายถุงยังชีพ อาหาร และน้ำดื่ม ให้กับราษฎรในพื้นที่ ตำบลสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน
  • จทบ.พ.ล./ศบภ.จทบ.พ.ล. จัดกำลังพลรวม 53 นาย และ รยบ.2 คัน เข้าให้การช่วยเหลือในการจัดทำสิ่งกีดขวางป้องกันกระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งพัง ผสมปูนใส่กระสอบทราย วางเป็นแนวป้องกันตลิ่งพัง และปักเสาเข็มบริเวณคลองต้นข้อ ตำบลปากแคว อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

1.4 สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้พระราชทาน ถุงยังชีพ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา และจังหวัดน่าน รวมจำนวน 5,000 ครอบครัว และจังหวัดสุโขทัย ดังนี้

  • ในวันที่ 6 กันยายน 2553 โดย นายดิสธร วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ พร้อมคณะ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ณ วัดคุ้งยางใหญ่ ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จำนวน 1,000 ครอบครัว และวัดกงไกรลาศ ตำบลกง อำเภอกงไกรลาส จำนวน 1,000 ครอบครัว

2) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำชุดธารน้ำใจพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง แพร่ นครสวรรค์ เชียงราย อุตรดิตถ์ และจังหวัดนครนายก รวมจำนวน 4,662 ชุด น้ำดื่ม 14,700 ขวด และจังหวัดเพชรบูรณ์ อุดรธานี และจังหวัดหนองคาย ดังนี้

  • วันที่ 7 กันยายน 2553 โดย นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ร่วมกับนายกเหล่ากาชาดจังหวัด นำชุดธารน้ำใจฯ พระราชทาน บรรเทาทุกข์ช่วยผู้ประสบภัย ณ อำเภอหนองไผ่ อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอชนแดน อำเภอบึงสามพัน และอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 2,500 ชุด
  • วันที่ 8 กันยายน 2553 โดย นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ร่วมกับนายกเหล่ากาชาดจังหวัด นำชุดธารน้ำใจฯ พระราชทาน บรรเทาทุกข์ช่วยผู้ประสบภัย ณ อำเภอนายูง อำเภอน้ำโสม และอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 1,000 ชุด และที่อำเภอเมือง อำเภอท่าบ่อ และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย จำนวน 1,000 ชุด

3) กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง แพร่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมจำนวน 2,750 ชุด และจังหวัดน่าน จำนวน 900 ถุง ดังนี้

  • เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2553 พลอากาศตรีสรชัย ชีวะกลินศักดิ์ ผู้อำนวยการกองงานพระวรชายาฯ เป็นผู้แทนพระองค์ นำสิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่โรงเรียนนาน้อย ตำบลนาน้อย อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน จำนวน 900 ชุด

4) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ และจังหวัดปทุมธานี รวมจำนวน 8,259 ถุง และอาหารกล่อง จำนวน 3,500 กล่อง

2. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 5 — 11 กันยายน 2553

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 5-8 กันยายน 2553 ร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนกระจายและฝนตกหนักบางแห่ง จากนั้นในช่วงวันที่ 9-11 กันยายน 2553 ร่องมรสุมจะมีกำลังแรงขึ้นและพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่นในระยะนี้ ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในระยะนี้

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

อนึ่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว (ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-6 กันยายน 2553) จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าได้เกิดแผ่นดินไหว แต่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 เวลา 23.58 น. แผ่นดินไหวบนบกบริเวณประเทศพม่า ขนาด 3.1 ริกเตอร์ ศูนย์กลางห่างจากอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 92 กิโลเมตร วันที่ 2 กันยายน 2553 เวลา 07.16 น. แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 5.2 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะอันดามัน วันที่ 3 กันยายน 2553 เวลา 23.35 น. แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 7.4 ริกเตอร์ บริเวณตอนใต้ของหมู่เกาะนิวซีแลนด์ และเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2553 เวลา 10.09 น. แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 5.0 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ