สรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสสอง ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 8, 2010 17:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสสอง ปี 2553 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดังนี้

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2553

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้โอกาสการมีงานทำและการสร้างรายได้ดีขึ้น อัตราการว่างงานเฉลี่ยลดลงสู่ระดับปกติ ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นและช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตลาดแรงงานโดยรวมของประเทศยังมีโครงสร้างที่ไม่สมดุล แรงงานที่มีอยู่คุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับต่าง ๆ ยังต่ำกว่าเกณฑ์ จึงเป็นข้อจำกัดในการศึกษาต่อและการต่อยอดเพื่อพัฒนากำลังแรงงานที่มีคุณภาพ คนไทยมีความเสี่ยงด้านสุขภาพและการเป็นโรคมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง การระบาดของโรคไข้เลือดออกในปี 2553 สูงสุดรอบ 5 ปี รวมทั้งต้องมีการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยจากแรงกดดันสภาพทางสังคมและปัญหาความมั่นคงในอาชีพและรายได้โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ขณะที่ระบบสุขภาพยังต้องยกระดับคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ รัฐบาลจึงต้องเร่งรัดการลงทุนขนาดใหญ่ด้านสุขภาพภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพบริการให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น รวมทั้งเร่งดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ซึ่งการผลักดันให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำสัมฤทธิ์ผลนั้น ภาคธุรกิจเอกชนจะเป็นพลังร่วมที่สำคัญยิ่งโดยการดำเนินการภายใต้ช่องทางการรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) และการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (Social Enterprises)

ภาพรวมประเทศไทยปัญหาการว่างงานได้หมดไป ในไตรมาส 2/2553 มีผู้ว่างงาน 498.7 พันคน อัตราการว่างงานร้อยละ 1.3 ลดลงจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาส 2/2552 จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงจาก 181,266 คน เป็น 143,265 คน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน และอาหารแช่เย็นแช่แข็งที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ ที่เริ่มฟื้นตัวส่งผลให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 แต่การจ้างงานในภาคเกษตรลดลงร้อยละ 6.6 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไป

ประเด็นเฝ้าระวังที่สำคัญในระยะต่อไปคือปัญหาตลาดแรงงานตึงตัว สะท้อนทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ได้แก่ (1) การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวมาก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งมีความต้องการแรงงานรวมประมาณ 1 แสนคนและ ยังมีความต้องแรงงานสำหรับกลุ่มผู้รับจ้างผลิตอีกด้วย (sub-contractor) (2) การตึงตัวของแรงงานระดับอาชีวศึกษา (ปวช. ปวส. และอนุปริญญา) เนื่องจากการขาดแคลนผู้ที่จบการศึกษาสายอาชีพ โดยในปีการศึกษา 2553 สัดส่วนของผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจะมีเพียงประมาณร้อยละ 23.5 และประมาณ ร้อยละ 46.4 สำหรับกลุ่มประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ในขณะที่แรงงานกลุ่มมีการศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่าโดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์มีผู้ว่างงานประมาณ 10 เท่าของตำแหน่งงานว่างอยู่ เช่นเดียวกับแรงงานระดับการศึกษาต่ำและมัธยมศึกษามีผู้ว่างงานมากกว่าตำแหน่งงานว่างเฉพาะที่ผ่านกรมการจัดหางานอยู่ประมาณ 1.5 เท่า แต่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเลือกใช้แรงงานต่างด้าวแทน และ (3) ประชากรในวัยแรงงาน (15-59 ปี) กำลังชะลอตัวและอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานเริ่มมีแนวโน้มลดลงโดยในไตรมาสสองนี้เท่ากับร้อยละ 71.75 ต่ำกว่าร้อยละ 73.01 ในไตรมาสสองปีที่แล้ว โดยที่ผู้ที่ทำงานบ้านและผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานได้นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น

การพัฒนาด้าน IQ ของเด็กไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (ที่ 90-110) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัญหาการขาดสารไอโอดีนและธาตุเหล็กในหญิงมีครรภ์และเด็กทุกช่วงวัยโดยเฉพาะเด็กวัย 0-6 ปี ที่เป็นช่วงการพัฒนาสมองเต็มที่ที่สุด รวมทั้งเป็นปัญหาต่อเนื่องจากการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 3 และผลการสอบ O-net ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในกลุ่มวิชาพื้นฐานสำคัญ ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าเกณฑ์มาก สถานศึกษาที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ และมีความแตกต่าง ด้านคุณภาพในระหว่างพื้นที่มาก

ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบสุขภาพมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ต่ำ การศึกษาต่ำ และผู้สูงอายุ และยังสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามทรัพยากรด้านสาธารณสุขยังไม่เพียงพอและยังมีความเหลื่อมล้ำที่ทำให้มาตรฐานการบริการสุขภาพมีความแตกต่างกันมากในระหว่างพื้นที่ จึงต้องเร่งรัดการลงทุนขนาดใหญ่ด้านสุขภาพภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายทรัพยากรสาธารณสุข และสร้างมาตรฐาน คุณภาพการให้บริการให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น รวมทั้งปรับระบบสุขภาพให้มีความสมดุลและนำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในระดับครอบครัว ชุมชน

คดีอาชญากรรมโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคดียาเสพติดมีสัดส่วนมากที่สุด จำนวน 59,087 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2553 และไตรมาสสองของปี 2552 ร้อยละ 3.7 และ 3.3 ตามลำดับ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ รับแจ้ง 13,887 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีเดียวกันและไตรมาสสองของปี 2552 ร้อยละ 5.1 และ 1.1 ตามลำดับ สำหรับคดีชีวิต ร่างกายและเพศมีจำนวน 7,380 คดี ลดลงจากไตรมาสก่อนของปี 2553 และไตรมาสสองของปี 2552 ร้อยละ 7.1 และ 9.9 ตามลำดับส่วนหนึ่งที่ทำให้คดีอาญาโดยเฉพาะคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น

ประชาชนมีปัญหาหนี้สินมากขึ้นและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ความไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้นั้นมีทั้งในกลุ่มลูกหนี้นอกระบบและกลุ่มลูกหนี้ในระบบทั้งที่เกี่ยวกับสัญญาเงินกู้/สัญญาจำนอง การขายสินทรัพย์ในราคาต่ำ การคิดดอกเบี้ยจากการผิดพลาดการชำระตามกำหนดเวลาในอัตราที่สูงกว่าสัญญา เป็นต้น การร้องเรียนผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีการศึกษาและผู้ที่อยู่ในเมืองที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าและ ผลการสำรวจแสดงว่าการร้องเรียนมีเพียงร้อยละ 10.8 ของปัญหาที่เกิดขึ้น และผู้ร้องเรียนที่มีความพึงพอใจน้อย/น้อยที่สุด และไม่พึงพอใจมีรวมประมาณร้อยละ 47

พฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีและวัยรุ่นมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำมีสัดส่วนการใช้จ่ายซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ต่อรายจ่ายรวมสูงกว่ากว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง (ร้อยละ 0.82 สำหรับกลุ่ม quintile ที่ 1 และร้อยละ 0.45 สำหรับ quintile ที่ 5 สำหรับกลุ่มที่อยู่ในเขตเทศบาล) และอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติดยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสตรี

เรื่องเด่นประจำฉบับ “วิสาหกิจเพื่อสังคมและความรับผิดชอบของบริษัทต่อสังคม: ภาคีร่วมการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะผลกระทบต่อความสมานฉันท์ ต้นทุนและโอกาสทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้สัมฤทธิ์ผลนั้นภาคธุรกิจเอกชนจะเป็นพลังร่วมที่สำคัญเนื่องจากมีทั้งศักยภาพ ทรัพยากร และช่องทางการดำเนินการที่ยืดหยุ่น แต่ผลการสำรวจบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศพบว่าการดำเนินกิจกรรมเพื่อรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการบริจาคเงินและสิ่งของถึงร้อยละ 98.5 จึงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนและช่วยสร้างโอกาสทางอาชีพได้อย่างยั่งยืน การดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจเอกชนที่ตั้งเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจน สร้างความเป็นธรรมและโอกาสแก่คนระดับล่างมีเพียงร้อยละ 58.8 ของกลุ่มตัวอย่าง สำหรับกิจการเพื่อสังคมที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ดีนั้น ผลกระทบยังไม่มากนัก เนื่องจากมีขนาดเล็กและมีข้อจำกัดด้านเงินทุนและการบริหารจัดการ

ภาคเอกชนจึงควรพิจารณาเพิ่มบทบาทในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมหรือต่อยอดในกิจกรรมที่ภาครัฐและภาคีการพัฒนาอื่นๆ ขาดความเชี่ยวชาญและศักยภาพ หรือมีความยืดหยุ่นน้อยกว่า ขณะที่ภาครัฐต้องเน้นบทบาทการหนุนเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนตระหนักที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเป็นธรรมและสร้างโอกาสอย่างยั่งยืน โดยการณรงค์ผ่านสื่อถึงความรู้และความจำเป็นของ CSR และกิจการเพื่อสังคม การใช้มาตรการภาษีที่จูงใจ การกำหนดให้บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องจัดทำรายงานเพื่อใช้เผยแพร่กิจกรรมของบริษัทมหาชนทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการจัดตั้งกองทุนร่วมทุนโดยภาครัฐ หรือกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อ CSR และกิจการเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมกิจกรรมของ CSR และกิจการเพื่อสังคมให้มีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ