ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 13:56 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [ว่าด้วยการอนุวัติการตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวก

ในการขนส่งข้ามพรมแดนภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน (The GMS Agreement)] และร่างพระราชบัญญัติศุลกากร

(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ว่าด้วยการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982)

รวม 2 ฉบับ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

1. ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [ว่าด้วยการอนุวัติการตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน (The GMS Agreement)] ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. .... ซึ่งมีหลักการอนุวัติการตามอนุสัญญาฉบับเดียวกัน

2. ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 6) ที่เห็นว่า ยังไม่ควรตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ว่าด้วยการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอในขณะนี้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 6) ไปพิจารณาดำเนินการ และให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [ว่าด้วยการอนุวัติการตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน (The GMS Agreement)] มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. กำหนดนิยาม “พื้นที่ควบคุมร่วมกัน” หมายความว่า พื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกันตามกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน (ร่างมาตรา 3 เพิ่มเติมมาตรา 37 โสฬส)

2. กำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจในทางศุลกากรทั้งปวงในพื้นที่ควบคุมร่วมกันเช่นเดียวกับในเขตศุลกากร และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานศุลกากรในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานในราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 3 เพิ่มเติมมาตรา 37 สัตตรส-มาตรา 37 อัฏฐารส)

3. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่พนักงานศุลกากรตรวจพบในพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 3 เพิ่มเติมมาตรา 37 เอกูนวีสติ)

4. กำหนดให้การดำเนินการในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่พนักงานศุลกากรตรวจพบในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักร ให้พนักงานศุลกากรของรัฐบาลไทยร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลง ให้ส่งบุคคล สัตว์ พืช ของ ตลอดจนพาหนะ ผู้ควบคุมพาหนะ และคนประจำพาหนะที่ใช้ขนส่งสิ่งดังกล่าว กลับมายังราชอาณาจักร เพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรต่อไป (ร่างมาตรา 3 เพิ่มเติมมาตรา 37 วีสติ)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ