ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 13:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลังเสนอว่า โดยที่ปัจจุบันระบบการบริหารราชการได้เปลี่ยนแปลงไป ตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และที่สำคัญได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานบุคคลและปรับปรุงระบบค่าตอบแทนของข้าราชการขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับระบบการบริหารราชการและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีผลกระทบต่อระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลของลูกจ้างประจำในส่วนราชการซึ่งยึดโยงระบบบริหารทรัพยากรบุคคลกับข้าราชการพลเรือน ประกอบกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานเกิดความไม่เหมาะสมล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงสมควรปรับปรุงการบริหารทรัพยากรบุคคลของลูกจ้างประจำ ระบบวินัย อุทธรณ์และร้องทุกข์ให้มีความเข้มแข็งและเป็นธรรม ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ของลูกจ้างประจำเพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลของลูกจ้างประจำเป็นไปอย่างคล่องตัว และสอดคล้องกับแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐเพิ่มพูนประสิทธิภาพและสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ

สาระสำคัญของร่างระเบียบ

1. ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 (ร่างข้อ 3)

2. กำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งจะเข้ารับราชการเป็นลูกจ้างประจำ วันเวลาทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี วันหยุดราชการประจำปี การลาหยุดราชการ เครื่องแบบของลูกจ้างประจำและระเบียบการแต่งเครื่องแบบ (ร่างข้อ 6-ข้อ 8)

3. กำหนดให้ลูกจ้างประจำมีสิทธิได้รับบำเหน็จและสิทธิประโยชน์อื่น (ร่างข้อ 9)

4. การกำหนดตำแหน่งของลูกจ้างประจำให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.พ.กำหนด สำหรับอัตราค่าจ้างและการได้รับค่าจ้างให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ร่างข้อ 10)

5. กำหนดให้คณะรัฐมนตรีอาจพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำขั้นสูงหรือปรับค่าจ้างหรือกำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามความจำเป็นให้เหมาะสมยิ่งขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป ฐานะการคลังของประเทศและปัจจัยอื่นที่จำเป็นประกอบการพิจารณา และให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว (ร่างข้อ 11)

6. กำหนดให้ลูกจ้างประจำอาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศตำแหน่งในบางท้องที่ หรือตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด (ร่างข้อ 12)

7. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน การย้ายและการนับเวลาราชการ (ร่างข้อ 13-ข้อ 28)

8. กำหนดให้ส่วนราชการเป็นผู้มีหน้าที่เสนอแนวทางเพื่อเยียวยาและแก้ไขในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งลูกจ้างประจำ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ลูกจ้างประจำได้รับความเป็นธรรม จากการถูกเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว (ร่างข้อ 29)

9. กำหนดให้ส่วนราชการมีหน้าที่ดำเนินการให้มีการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจให้แก่ลูกจ้างประจำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด และให้กระทรวงการคลังสามารถจัดให้มีการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจแทนส่วนราชการได้ ในกรณีที่เห็นสมควรและเพื่อเป็นการประหยัด (ร่างข้อ 30-ข้อ 35)

10.กำหนดเรื่องการรักษาจรรยาลูกจ้างประจำและบทลงโทษแก่ลูกจ้างประจำซึ่งไม่ปฏิบัติตามจรรยาโดยให้ผู้บังคับบัญชาตักเตือน นำไปประกอบการพิจารณาเลื่อนค่าจ้างหรือสั่งให้ลูกจ้างประจำผู้นั้นได้รับการพัฒนา (ร่างข้อ 36-ข้อ 37)

11.กำหนดข้อปฏิบัติที่ลูกจ้างประจำต้องกระทำ ข้อห้ามที่ลูกจ้างประจำต้องไม่กระทำและลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แยกเป็นหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ลูกจ้างประจำมีวินัยและป้องกันมิให้กระทำผิดวินัย (ร่างข้อ 38-ข้อ 46)

12.กำหนดขั้นตอนการดำเนินการทางวินัย ในกรณีที่มีการกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าลูกจ้างประจำผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย (ร่างข้อ 47-ข้อ 61)

13.กำหนดให้ลูกจ้างประจำซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในสิ้นปีงบประมาณหากทางราชการมีความจำเป็นที่จะให้รับราชการต่อไป เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวก็ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี (ร่างข้อ 63)

14.กำหนดให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ (ก.อ.ท.) มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ตลอดจนกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมและสิทธิประโยชน์ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ร่างข้อ 68-ข้อ 71)

15.กำหนดให้ลูกจ้างประจำที่ถูกสั่งลงโทษทางวินัย หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.อ.ท.ได้ โดยให้อำนาจแก่ ก.อ.ท.ในการที่จะตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ (ร่างข้อ 72-ข้อ 79)

16.กำหนดให้ลูกจ้างประจำที่มีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชาสามารถใช้สิทธิร้องทุกข์ได้ โดยร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับ เว้นแต่การร้องทุกข์ที่เกิดขึ้นจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือความรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือนายกรัฐมนตรีให้ร้องทุกข์ต่อ ก.อ.ท. โดยให้อำนาจแก่ ก.อ.ท.ในการที่จะตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยร้องทุกข์ได้ (ร่างข้อ 80-ข้อ 84)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ