ร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553 — 2557)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 14:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553 — 2557) โดยประกาศเป็นนโยบายรัฐบาล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่า คณะกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 ได้พิจารณาร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553 — 2557) ซึ่งมีความสำคัญต่อการบูรณาการและเชื่อมโยงงานอนามัยการเจริญพันธุ์ของทุกภาคส่วน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างฯ ดังกล่าว และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

1. งานอนามัยการเจริญพันธุ์ เป็นเรื่องที่มีผลโดยตรงต่อจำนวนและคุณภาพการเกิดของประชากรจึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพประชากรโดยเริ่มตั้งแต่ก่อนเกิด มีการเตรียมความพร้อมพ่อแม่ก่อนตั้งครรภ์ ดูแลครรภ์ ขณะคลอดและหลังคลอดทั้งแม่และทารก การเกิดที่มีคุณภาพต้องเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ที่สตรีมีความพร้อมและ ตั้งใจได้รับการเลี้ยงดู และมีวิถีชีวิตที่มีอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ เพื่อเป็นผู้สร้างประชากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ดังเป้าประสงค์ คือ ให้คนไทยทุกเพศทุกวัยมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทางเพศในกลุ่มวัยรุ่น ทั้งนี้ บนหลักความสมัครใจ เสมอภาค และทั่วถึง และเพื่อเสริมสร้างให้ครอบครัวมีความเข้มแข็ง อบอุ่น และมีคุณภาพ โดยเฉพาะการเกิดทุกรายต้องเป็นที่ปรารถนา ปลอดภัย และมีคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์ 6 ยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้

1.1 ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างครอบครัวใหม่และเด็กรุ่นใหม่ให้เข้มแข็ง และมีคุณภาพ

เป้าหมาย

ครอบครัวเข้มแข็ง มีบุตรเมื่อพร้อมและตั้งใจ ทารกและเด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ วัยรุ่นมีความรู้เจตคติที่เหมาะสมเรื่องการสร้างครอบครัวและเข้าถึงบริการคุมกำเนิด หญิงและชายได้รับการเตรียมพร้อมเพื่อการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ

วัตถุประสงค์

เพื่อส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็ง สร้างครอบครัวใหม่ที่มีคุณภาพโดยการมีส่วนร่วมของสังคม และเพื่อให้การตั้งครรภ์และการคลอดทุกรายมีความพร้อม ทารกและเด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ โดยคำนึงถึงด้านกาย จิต สังคม และสติปัญญา

มาตรการ

ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายและกลไกภาครัฐทุกระดับโดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัด สวัสดิการที่เอื้อและเสริมต่อการสร้างครอบครัวใหม่ที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ จัดบริการให้ความรู้และคำปรึกษา ตรวจสุขภาพชายหญิงก่อนสมรสและตั้งครรภ์ บริการวางแผนครอบครัวด้วยวิธีคุมกำเนิด การตรวจรักษาผู้มีบุตรยาก ส่งเสริมให้พ่อแม่มีโอกาสและเวลาในการเลี้ยงดูลูก ให้คำปรึกษา ความรู้และความเข้าใจที่รอบด้านเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมก่อนและหลังการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ที่เป็นไปตามข้อบังคับของแพทยสภา รวมถึงจัดให้มีศูนย์ดูแลเด็ก (3 เดือน — 3 ปี) เด็กก่อนวัยเรียน (3-5 ปี) ที่มีคุณภาพทั้งในเขตเมืองและชนบท

1.2 ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัยมีพฤติกรรมอนามัยการเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศที่เหมาะสมและปลอดภัย

เป้าหมาย

มีระบบการเรียนรู้ การสอนทั้งในและนอกระบบการศึกษาแบบมีส่วนร่วมเรื่องเพศศึกษาและมีทักษะชีวิตที่รอบด้าน ต่อเนื่อง และคำนึงถึงบริบทสถานะเพศต่าง ๆ คนทุกกลุ่มทุกวัยมีเจตคติและพฤติกรรมที่เหมาะสมและรับผิดชอบต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้เรียนรู้ มีเจตคติพฤติกรรมอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่เหมาะสมและรับผิดชอบ

มาตรการ

สนับสนุนให้มีการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและทักษะชีวิตอย่างรอบด้าน ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการอนามัยการเจริญพันธุ์ และกำหนดมาตรการส่งเสริมการผลิตสื่อและเผยแพร่สื่อที่สอดคล้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือสถานการณ์ทางสังคม

1.3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ

เป้าหมาย

โรงพยาบาลทุกระดับมีการจัดบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับวัยรุ่นอย่างมีคุณภาพ มีโรงเรียนต้นแบบการจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์

วัตถุประสงค์

เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้โรงพยาบาล โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีขีดความสามารถในการจัดบริการ และเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถจัดบริการที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

มาตรการ

สนับสนุนให้สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับมีบริการด้านการเจริญพันธุ์ที่ครบถ้วน เป็นมิตร มีคุณภาพและเหมาะสม สนับสนุนให้สถาบันการศึกษามีการส่งเสริมความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ พัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข การศึกษาและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกระดับให้มีความรู้ เจตคติ และความสามารถในการให้บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน เสริมสร้างสมรรถนะองค์กรด้านเด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานอนามัยการเจริญพันธุ์ และสนับสนุนการดำเนินงานด้านอนามัยการเจริญพันธุ์เชิงรุก

1.4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศแบบบูรณาการ

เป้าหมาย

ให้ทุกจังหวัดจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ระดับจังหวัด และมีแผนแม่บทการจัดการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์

วัตถุประสงค์

เพื่อให้การดำเนินงานอนามัยการเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศเป็นไปในทิศทางเดียวกันมีการบูรณาการ และเกิดการผสมผสานการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

มาตรการ

ตั้งคณะอนุกรรมการการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ระดับจังหวัด ที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วนและจัดทำแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด โดยจัดประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ภาคีเครือข่ายร่วมกันสำรวจปัญหาภายในจังหวัดเพื่อเป็นฐานข้อมูล ภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทการจัดการเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศในวัยรุ่นแบบบูรณาการในระดับจังหวัด รวมถึงสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่าย

1.5 ยุทธศาสตร์การพัฒนากฎหมาย กฎ และระเบียบเกี่ยวกับงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ

เป้าหมาย

ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และผลักดันสู่การปฏิบัติอย่างได้ผล

วัตถุประสงค์

พัฒนากฎหมาย กฎ และระเบียบเพื่อคุ้มครองสิทธิการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ

มาตรการ

เสนอให้ออกพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ ประสานและร่วมมือกับส่วนราชการ ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ประสานและร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการแก้ไขระเบียบให้เพิ่มเติมงบประมาณด้านการป้องกันคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ และการรณรงค์สร้างความรู้ ความตระหนักแก่บุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทุกเพศทุกวัยให้สามารถใช้สิทธิของตนเอง

1.6 ยุทธศาสตร์การพัฒนาและการจัดการองค์ความรู้ เทคโนโลยี อนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ

เป้าหมาย

มีระบบเฝ้าระวัง นวัตกรรมและการจัดการองค์ความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ

วัตถุประสงค์

มีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศระดับชุมชน จัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศระดับจังหวัดและส่วนกลาง และพัฒนานวัตกรรมและการจัดการองค์ความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ

มาตรการ

พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ ระบบการเฝ้าระวังเชิงรุกโดยการสร้างเครือข่ายให้ชุมชนมีส่วนร่วม สนับสนุนการวิจัยหรือโครงการพัฒนาอื่นๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนแต่ละกลุ่มวัยและทุกกลุ่มสังคม และส่งเสริมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ