มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 14:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

2. อนุมัติหลักการ 2.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 2.2 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 2.3 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้มีกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกระทรวงการคลัง เรียกว่ากองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อปรับปรุงกลไกการบริหารหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2. กองทุนฯ เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารเงินที่ได้รับจากการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและการกู้เงินเพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศโดยการออกตราสารหนี้ตามความจำเป็นในการสร้างอัตราดอกเบี้ยสำหรับใช้อ้างอิงในตลาดตราสารหนี้

3. กองทุนฯ สามารถดำเนินการลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคง ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสม และสามารถทำธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้ รวมถึงสามารถจ้างผู้บริหารสินทรัพย์เพื่อบริหารเงินและทรัพย์สินของกองทุนได้

3.1 กรณีการลงทุนในประเทศจะลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกหรือค้ำประกัน โดยกระทรวงการคลังหรือตราสารหนี้อื่นที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือทำธุรกรรมซื้อโดยมีสัญญาจะขายคืนซึ่งตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง

3.2 กรณีการลงทุนในต่างประเทศ กองทุนฯ จะลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกเป็นเงินตราสกุลหลักและออกหรือค้ำประกันโดยรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

4. เพื่อให้การดำเนินกิจการของกองทุนฯ ปลอดภาระภาษีต่างๆ ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศโดยไม่มีต้นทุนภาษีแฝงอยู่ และช่วยให้กองทุนฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐสามารถบริหารสภาพคล่องและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นควรยกเว้นภาษีให้แก่กิจการของกองทุนฯ

5. การยกเว้นภาระภาษีสำหรับกองทุนฯ จะทำให้กองทุนฯ สามารถดำเนินการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศโดยไม่มีต้นทุนภาษีแฝงอยู่ โดยมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรเพียงเล็กน้อย แต่จะทำให้กองทุนฯ สามารถบริหารสภาพคล่องและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอันจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศโดยรวม

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการให้บริการของกองทุนบริหารหนี้เงินกู้ เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ (ร่างมาตรา 3)

2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้กิจการกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ร่างมาตรา 3)

3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้ยกเว้นอากรแสตมป์ให้แก่กองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ (ร่างมาตรา 3)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ