แผนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 15:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานว่า ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 8 แห่ง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐในการดำเนินมาตรการกึ่งการคลังเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในยามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้จัดทำแผนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีหลักการและสาระสำคัญของร่างแผนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจสรุปได้ดังนี้

1. หลักการ

เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการวางรากฐานและสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อันจะนำไปสู่การส่งเสริมบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ให้สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการฟื้นฟูและช่วยเหลือกลุ่มประชาชนและธุรกิจ เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพในการเติมเต็มช่องว่าง การให้บริการทางการเงินทั้งในภาวะปกติและในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งมีเกณฑ์การกำกับดูและสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เหมาะสม

2. สาระสำคัญ

แผนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

2.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การพัฒนาบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อเติมเต็มช่องว่างในระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเน้นการพัฒนาบทบาทและบูรณาการการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อลดปัญหานี้นอกระบบและเติมเต็มช่องว่างของความต้องการทางการเงินในภาคต่าง ๆ เช่น ภาคการเกษตร ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประชาชนรายย่อย และระบบการเงินฐานราก (Microfinance) นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องของการลดการทับซ้อนในการดำเนินงานระหว่างสถาบัน การเงินเฉพาะกิจด้วยกันเอง และระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจกับธนาคารพาณิชย์ และส่งเสริมให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายรัฐของสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาการกำกับดูแลและการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ จะเน้นการพัฒนาการกำกับดูแลและการประเมินผลสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบการกำกับดูแล การพัฒนาระบบตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

2.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาศักยภาพของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะเน้นการพัฒนาศักยภาพของสถาบันเฉพาะกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการบริหารความเสี่ยงด้านบุคลากร ด้านกฎหมาย ด้านการประชาสัมพันธ์ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย และด้านการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. แผนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจนอกจากจะได้กำหนดมาตรการและแผนงานย่อยในแต่ละยุทธศาสตร์ รวมถึงระยะเวลาและหน่วยงานรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนแล้ว ยังได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจขึ้น โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ในลักษณะเช่นเดียวกับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ