แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2553-2557)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 15:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2553-2557) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอสาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยจากสถาบันการศึกษาได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2553 - 2557) ขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

แผนพัฒนาการประกันภัย เป็นแผนระดับชาติด้านการประกันภัย ซึ่งเป็นความพยายามของภาครัฐและภาคเอกชนในการกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบประกันภัยของประเทศไทย ที่มีกรอบทิศทางและมาตรการที่ชัดเจนทั้งนโยบายในการกำกับดูแลและส่งเสริมพัฒนาธุรกิจประกันภัย และทิศทางการดำเนินงานของภาคธุรกิจประกันภัย

แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2553 - 2557) มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการประกันภัย โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบประกันภัยไทย พัฒนาให้มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงแผนพัฒนาการประกันภัยเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และความท้าทายใหม่ ๆ จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2553 - 2557) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ผลักดันให้แผนพัฒนาฯ เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงโดยเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ ต้องการพัฒนาระบบประกันภัยของไทยให้ก้าวสู่มาตรฐานสากลระดับหนึ่ง และพร้อมรับการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัย โดยได้มีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทั้งบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

แผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2553 - 2557) ได้กำหนดมาตรการสำคัญที่จะมีผลกว้างไกลต่อการต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมประกันภัยไทย ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก และ 18 มาตรการสำคัญ คือ

มาตรการที่ 1 : การเสริมสร้างความเชื่อมั่น ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย และการเข้าถึงระบบประกันภัยของประชาชน

1.1 การเสริมสร้างความรู้ด้านประกันภัยให้กับประชาชน

1.2 การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจ สังคม กฎหมายและเทคโนโลยีสารสนเทศ

1.3 การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการให้บริการแบบครบวงจร

1.4 การกำหนดข้อพึงปฏิบัติในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย

1.5 การเสริมสร้างให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Corporate Social Responsibility : CSR)

มาตรการที่ 2 : การเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบประกันภัย

2.1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อระบบประกันภัย

2.2 การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทประกันภัย

มาตรการที่ 3 : การเพิ่มมาตรฐานการให้บริการและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย

3.1 การปฏิรูปกฎหมายด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์

3.2 การกำหนดมาตรฐานกรอบแนวทางปฏิบัติในการให้บริการด้านการประกันภัย

3.3 การพัฒนาคุณภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย

3.4 โครงการจัดตั้งกองทุนมหันตภัย

มาตรการที่ 4 : การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย

นอกจากนั้น เพื่อประโยชน์ในการติดตาม และประเมินผลความสำเร็จของแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2553 - 2557) ได้กำหนดเป้าหมาย ดังนี้

1. สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.00

2. เพิ่มจำนวนเบี้ยประกันภัยต่อจำนวนประชากรเป็น 7,500 บาท ในปี 2557

2.1 ประกันชีวิต 4,200 บาท

2.2 ประกันวินาศภัย 3,300 บาท

3. เพิ่มจำนวนกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อจำนวนประชากร เป็นร้อยละ 40 ในปี 2557

4. เพิ่มจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยแบบไมโครอินชัวรันส์ ขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2553

5. บริษัทประกันภัยทุกบริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 120

6. ลดระยะเวลาในการให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัย ร้อยละ 25

7. จำนวนแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และอัตราเบี้ยประกันภัยที่ได้รับความเห็นชอบแบบอัตโนมัติ (File & Use)เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในปี 2557

8. บริษัทมีระบบงานที่เป็นมาตรฐานในการให้บริการประชาชนครบวงจรตามมาตรฐาน Insurance Core Principles : ICP

9. จัดทำโครงสร้างและรูปแบบการบริหารงานขององค์กรพิจารณาตัดสินข้อพิพาทด้านประกันภัย (Insurance Dispute Resolution Organization : IDRO)

10.ธุรกิจประกันภัยมีความพร้อมด้านบุคลากร โดย

10.1 นักคณิตศาสตร์ประกันภัย

  • ร้อยละ 70 ของบริษัทประกันชีวิต ต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เป็นสมาชิกระดับเฟลโล
  • ร้อยละ 70 ของบริษัทประกันวินาศภัย ต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด

10.2 คนกลางประกันภัย

  • ร้อยละ 20 ของคนกลางประกันภัยที่มีคุณสมบัติตามกำหนด สามารถพัฒนาเป็นที่ปรึกษาด้านการประกันภัย (Insurance Advisor)

11.มีฐานข้อมูลกลางของธุรกิจประกันภัยครบวงจร ( I — Site )

12.จัดทำร่างกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัยฉบับใหม่ แล้วเสร็จ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ