คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติ ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รชต.) ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2553 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ รชต. ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553
2. มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีผลการเบิกจ่ายอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เร่งรัดการดำเนินโครงการ และรายงานผลการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (อชต.) เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน
3. อนุมัติโครงการพัฒนาอาชีพตามผลประชาคม 696 หมู่บ้าน เพิ่มเติม จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 41.99 ล้านบาท โดยใช้เงินเหลือจ่ายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากโครงการตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2553 ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
4. อนุมัติโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในพื้นที่ 26 หมู่บ้านของจังหวัดสตูล รวม 4 โครงการย่อย วงเงิน 17.00 ล้านบาท โดยใช้เงินเหลือจ่ายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากโครงการตามแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2553 ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
5. อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการตามผลการประชาคมหมู่บ้านปี 2554 ของกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรร วงเงินรวม 1,880.00 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อปรับลดความซ้ำซ้อน ปรับต้นทุนค่าก่อสร้างให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงบประมาณ และยืนยันเป้าหมายตามผลการประชาคมหมู่บ้าน และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการตามผลการประชาคมหมู่บ้านปี 2554 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกไปจนถึงปี 2555 ส่วนวงเงินที่เหลือจากการปรับลดให้นำไปใช้ในโครงการตามข้อ 6 ข้อ 9 และข้อ 11
6. อนุมัติโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์วงเงิน 950.00 ล้านบาท โดยมอบหมายสำนักงบประมาณพิจารณาแหล่งงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการต่อไป
7. อนุมัติการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของจังหวัดสตูล ตามที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอ จำนวน 5 แห่ง ดังนี้
7.1 รายการสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนระบบน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน จำนวน 1 แห่ง โดยเปลี่ยนพื้นที่จากโรงเรียนบ้านราไว ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า เป็นโรงเรียนบ้านทุ่ง ตำบลฉลุงอำเภอเมือง เนื่องจากพื้นที่เดิมมีปัญหาน้ำบาดาลเค็ม สำหรับโรงเรียนบ้านราไว ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งแก้ไขปัญหาน้ำบาดาลเค็ม เพื่อให้มีระบบน้ำประปาและน้ำดื่มสะอาดอย่างเพียงพอต่อไป
7.2 รายการจัดหาน้ำสะอาดให้กับหมู่บ้านภัยแล้งจำนวน 4 แห่ง โดยเปลี่ยนพื้นที่เป็น
(1) บ้านควนไสน ตำบลควนสตอ อำเภอควนโดน
(2) บ้านโตน ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง
(3) บ้านน้ำหรา ตำบล ทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง
(4) บ้านวังแรด ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลงเนื่องจากพื้นที่เดิมได้รับการพัฒนาระบบน้ำดื่มสะอาดไว้อย่างเพียงพอแล้ว
8. อนุมัติการเปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างและการปรับแบบรูปรายการก่อสร้างโครงการศูนย์ครูใต้จังหวัดยะลา ภายในวงเงิน 160.08 ล้านบาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอ
9. อนุมัติการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดแผนงานและงบประมาณโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปรับลดระยะเวลาดำเนินการจาก 6 เดือน (เมษายน — กันยายน 2553 ) เหลือ 4 เดือน (กันยายน — ธันวาคม 2553) ทำให้วงเงินลดลงเหลือ 85.76 ล้านบาท โดยให้ใช้เงินสำรองจ่ายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 ข้อ 16 (8,500 ล้านบาท)
10.มอบหมายให้องค์การสะพานปลาจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการปรับปรุงสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงสตูลเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาตามขั้นตอนก่อนเสนอขออนุมัติโครงการต่อไป
11.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ (อปต.) ปรับปรุงแผนประชาสัมพันธ์ฯให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วน ประกอบด้วย (1) การใช้กิจกรรมที่เป็นภารกิจปกติของหน่วยงานเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดงานประเพณีวัฒนธรรม เป็นต้น (2) การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ โดยใช้สื่อและภาษาที่เข้าถึงประชาชน เช่น วิทยุท้องถิ่น ภาษาท้องถิ่น เป็นต้น (3) การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนอกพื้นที่รับรู้และเข้าใจข้อเท็จจริงของสถานการณ์และการแก้ปัญหาอย่างสมดุล
12. มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการรับไปพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเรื่อง (1) การปูนบำเหน็จเลื่อนขั้น การรับเงินพิเศษสู้รบ (พ.ส.ร.) และการปรับวิทยฐานะเป็นกรณีพิเศษ เสนอนายกรัฐมนตรีในวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2553 (2) การตรวจสอบสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้ทัดเทียมกับหน่วยงานอื่นๆ เสนอนายกรัฐมนตรีในวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2553 สำหรับ (3) การจัดระบบการรักษาความปลอดภัย มอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยรักษาความปลอดภัย ดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--