การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 15:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบหลักการข้อเสนอของสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้และแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

คำขอของสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 3 ประเด็น คือ

1. ขอเรียนข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่โดยสรุปว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ไม่ได้ลดลงและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น จึงควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ นโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหา

2. ขอความปลอดภัยให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ให้ยุติจำนวนชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียสละไว้เพียง 137 ราย ดังนี้

2.1 ให้ฝ่ายกองกำลังปรับเปลี่ยนแผนและมาตรการ รปภ.ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นรูปธรรม ปฏิบัติการอย่างเข้มงวด และมีการประเมินผลทุกเดือน

2.2 ให้มีการจัดทำข้อตกลง (MOU) ระหว่างโรงเรียนและกองกำลัง โดยมีการร่วมปฏิบัติทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเคร่งครัด

2.3 เน้นความรับผิดชอบรอยต่อระหว่างกองกำลังที่รับผิดชอบในพื้นที่ให้ชัดเจน

2.4 ให้มีการประสานการสื่อสารที่ชัดเจนอย่างมีประสิทธิภาพ

3. ขอความเห็นใจแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้

3.1 กรณีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิต ขอความกรุณาให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพหรือมอบรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีตามความเหมาะสม ส่วนทายาทของผู้เสียชีวิตได้รับการบรรจุเข้ารับราชการทุกคน โดยไม่จำกัดหน่วยงาน และปูนบำเหน็จ 7 ขั้นแก่ผู้ที่เสียชีวิต

3.2 กรณีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่บาดเจ็บและทุพพลภาพ ขอความกรุณาให้มีสิทธิเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ถือเป็นวันลาและจัดให้มีกองทุนช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหรือเดินทางไปรักษาพยาบาลที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้จากทางราชการ

3.3 กรณีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ควรมีสวัสดิการเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและจูงใจให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่เพื่อพัฒนาการศึกษาและรักษาแผ่นดิน ดังนี้

(1) เพิ่มค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจากเดิม 2,500 บาทเป็น 3,500 บาท

(2) การลดภาษีเงินได้ตามที่เห็นสมควร

(3) การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 ต่อปี

(4) ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีระยะเวลาปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมากกว่า 5 ปี มีสิทธิได้รับเงิน พ.ส.ร. ทุกคน

(5) ปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินวิทยฐานะจากการประเมินผลงานทางวิชาการเป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานเชิงประจักษ์

มาตรการรักษาความปลอดภัยครู

1. จัดทำสมุดคู่มือการรักษาความปลอดภัยครู เพื่อใช้ในการประสานการปฏิบัติของหน่วยกำลังในพื้นที่ และกองกำลังประจำถิ่น ในการรักษาความปลอดภัยครู โรงเรียน และส่วนราชการต่างๆ

2. การแต่งกายของเจ้าหน้าที่ทหารขณะปฏิบัติหน้าที่ จะมีการแต่งกายเรียบร้อย และมีอุปกรณ์ เสื้อเกราะ หมวกเหล็กพร้อม

3. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลสภาพภูมิทัศน์แผ้วถางป่าและที่รกทึบสองข้างทางเพื่อป้องกันกลุ่มก่อความไม่สงบใช้เป็นที่ดังซุ้มโจมตี

4. ขอให้ครูได้ยึดกรอบเวลาของแผนการรักษาความปลอดภัย หากมีความจำเป็นต้องเดินทางนอกเหนือจากแผนที่กำหนดไว้ ให้ประสานกับหน่วยกำลังที่รับผิดชอบ

5. ให้ครูหาข้อบกพร่องของแผน วางแผน และเสนอปรับแผนการรักษาความปลอดภัยให้เป็นไปตามความต้องการของครู เสนออำเภอหรือหน่วยงานกำลังในพื้นที่รับผิดชอบทราบ

6. ให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ตลอดจนผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น แจ้งข้อมูลข่าวสาร ติดตาม ตรวจสอบ และสอดส่องบุคคลแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่โดยผิดสังเกต หากพบให้แจ้งหน่วยกำลังทราบ

7. ขอให้หน่วยกำลังดูแลครูที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในเวลากลางคืน และเพิ่มกำลังไปรักษาความปลอดภัยเส้นทางในพื้นที่เสี่ยงให้มากขึ้น

8. ให้มีการเปลี่ยนแปลงจุดรวมพล เวลา และเส้นทางไป-กลับ ในบางโอกาส เพื่อป้องกันมิให้ตกเป็นเป้าหมาย

9. ขอความร่วมมือผู้บริหารโรงเรียนและคณะครู ช่วยกันบูรณะ / ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโรงเรียน

10.ให้หน่วยกำลังลาดตระเวนเส้นทาง และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ร่วมทำการตรวจสอบเส้นทาง ก่อนการรักษาความปลอดภัยครู

11.หากชุดรักษาความปลอดภัยโรงเรียนตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ให้ผู้อำนวยการ / ผู้บริหารโรงเรียน แจ้งหน่วยกำลังทราบ เพื่อพิจารณาจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่อไป

12. กำลังทุกภาคส่วนมีความสำคัญในการให้ข้อมูล และให้ความร่วมมือในการรักษาความปลอดภัยครู และโรงเรียน เช่น ผู้บริหารโรงเรียน, ครู, ผู้ปกครอง, นักเรียน, ผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ

13. แต่ละอำเภอควรมีการตั้งศูนย์ประสานงาน หรือชุดปฏิบัติงานร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกและประสานงานการรักษาความปลอดภัย

14. ขอให้ผู้อำนวยการ/ผู้บริหารโรงเรียน ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการรักษาความปลอดภัยครูและโรงเรียน ให้บุคลากรทางการศึกษาทุกคนได้รับทราบว่า เป็นการทำงานในพื้นที่ในภาวะเหตุการณ์ที่ไม่ปกติและให้มีการซักซ้อมแผนเพื่อความปลอดภัย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ