สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 15:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประมวลผลสถิติการร้องทุกข์ และผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่มีมาถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

1. การแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนจำแนกตามช่องทางการร้องทุกข์ 4 ช่องทางในไตรมาสที่ 3 ประชาชนได้ใช้บริการการร้องทุกข์รวมทั้งสิ้น 38,298 ครั้ง โดยเรียงตามลำดับจากช่องทางที่มีอัตราส่วนมากที่สุด ดังนี้

  • สายด่วนของรัฐบาล 1111 มากที่สุด ร้อยละ 86.14
  • เว็บไซต์ (www.1111.go.th) ร้อยละ 9.45
  • ตู้ ปณ. 1111 / ไปรษณีย์ / โทรสาร ร้อยละ 3.66
  • จุดบริการประชาชน 1111 ร้อยละ 0.75

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 2 พบกว่าในไตรมาสที่ 3 มีจำนวนการใช้บริการการร้องทุกข์เพิ่มขึ้น จำนวน 6,595 ครั้ง โดยประชาชนใช้ช่องทางการร้องทุกข์ทางสายด่วนของรัฐบาล 1111 มากที่สุด รองลงมาคือ เว็บไซต์ (www.1111.go.th) และ ตู้ ปณ. 1111 / ไปรษณีย์ / โทรสาร ตามลำดับ

2. เรื่องร้องทุกข์จำแนกตามประเภทเรื่องเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 2

ในไตรมาสที่ 3 ประชาชนร้องเรียนในประเภทเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 30,127 เรื่อง โดยร้องทุกข์ประเภทเรื่องหลักด้านการเมือง — การปกครอง มากที่สุด ร้อยละ 59.91 ด้านสังคมและสวัสดิการ ร้อยละ 30.52 ด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.88

สำหรับ ประเภทเรื่องรองที่ประชาชนร้องทุกข์มากที่สุด ได้แก่ ปัญหาความมั่นคง ร้อยละ 23.28 รองลงมาคือ การเมือง ร้อยละ 19.29 และสาธารณูปโภค ร้อยละ 15.23 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเปรียบเทียบประเภทเรื่องที่ประชาชนได้แจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ กับไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 แล้ว ปรากฏว่าประเภทเรื่องรองที่มีการร้องทุกข์เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เรื่องปัญหาความมั่นคง ส่วนประเภทเรื่องรองที่มีการร้องทุกข์ลดลงมากที่สุด ได้แก่ เรื่องกล่าวโทษหรือร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ

3. หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน

ในไตรมาสที่ 3 หน่วยงานต่าง ๆ ได้รับการประสานงานเรื่องราวร้องทุกข์รวมทั้งสิ้น 6,003 เรื่อง โดยหน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชนเรียงตามลำดับจากมากที่สุดได้แก่ กระทรวงการคลัง ร้อยละ 22.22 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ผลกระทบจากนโยบายและโครงการของรัฐ หนี้สินนอกระบบและการอนุมัติสินเชื่อ) รองลงมา คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 19.39 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ กล่าวโทษหรือร้องเรียนข้าราชการตำรวจ บ่อนการพนัน และเหตุเดือดร้อนรำคาญ) และกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 11.36 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำประปา และปัญหาความสงบบเรียบร้อยภายในประเทศ)

4. เรื่องร้องทุกข์จำแนกตามรายภาคโดยเรียงลำดับจากมากที่สุดในไตรมาสที่ 3

ในไตรมาสที่ 3 ภาคที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชนเรียงตามลำดับจากมากที่สุดได้แก่ ภาคกลางและภาคตะวันออก ร้อยละ 33.13 รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 21.58 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 19.43 ภาคเหนือ ร้อยละ 14.84 และภาคใต้ ร้อยละ 11.02 ตามลำดับ

5. จังหวัดที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชน

ในไตรมาสที่ 3 จังหวัดต่างๆ ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์รวมทั้งสิ้น 3,767 เรื่อง โดยจังหวัดที่ได้รับการประสานงานเพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ให้แก่ประชาชนเรียงตามลำดับจากมากที่สุดได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 19.43 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ เหตุเดือดร้อนรำคาญ ถนน ปัญหาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ) รองลงมาคือ จังหวัดนนทบุรี ร้อยละ 4.01 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ เหตุเดือดร้อนรำคาญ ถนน และบ่อนการพนัน) และจังหวัดสมุทรปราการ ร้อยละ 3.80 (ประเด็นการร้องทุกข์ 3 ลำดับแรก ได้แก่ เหตุเดือดร้อนรำคาญ ถนน และยาเสพติด)

6. จากข้อมูลเรื่องราวร้องทุกข์ดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ประชาชนได้แจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากในไตรมาสที่ 2 ในปีงบประมาณดังกล่าว จำนวน 6,595 ครั้ง โดยในไตรมาสที่ 3 ประชาชนแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ในประเภทเรื่องหลักด้านการเมือง-การปกครอง มากที่สุด โดยมีจำนวนเรื่องเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 จำนวน 7,578 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 41.98 ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ทั้งนี้ ประเภทเรื่องที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เรื่องปัญหาความมั่นคง โดยเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นจากกรณีปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเปิดโต๊ะเจรจาในการบริหารประเทศในขณะนั้น ประเภทเรื่องรองที่มีจำนวนเรื่องลดลงมากที่สุดในไตรมาสที่ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ได้แก่ เรื่องกล่าวโทษหรือร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ