การฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 15:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2553 และการมอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบงานเตรียมความพร้อมของชาติ ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดังนี้

1. การฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2553

1.1 รูปแบบของการฝึกซ้อมฯ

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กองทัพไทย และกรมประชาสัมพันธ์ได้จัดการฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2553 (Crisis Management Exercise : C-MEX-10) เพื่อทดสอบระบบการบริหารจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนในการจัดการกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในกรอบนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กรอบ แผนปฏิบัติการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการระดับกระทรวง 17 ด้านและแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ซึ่งการฝึกซ้อมฯ ได้จัดการฝึก 2 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่หนึ่ง : การฝึกซ้อมฝ่ายอำนวยการ ระหว่างวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2553 เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกซ้อมฯ ได้ตรวจสอบความชัดเจนของนโยบาย แผน กฎหมาย ระเบียบ แผนปฏิบัติการฉุกเฉินของแต่ละหน่วยงาน และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกภาคสนาม โดยมีรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธาน และมอบนโยบายในการฝึกซ้อมฯ ซึ่งขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสาธารณภัยในเชิงรุกหรือในเชิงป้องกันด้วยการผนึกกำลังทุกฝ่ายในชาติ

รูปแบบที่สอง : การฝึกซ้อมภาคสนาม ในวันที่ 20 สิงหาคม 2553 เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มี ส่วนร่วมในการปฏิบัติจริง โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและมอบนโยบายแก่หัวหน้าหน่วยงาน

1.2 ผลของการฝึกซ้อมฯ

ในการฝึกซ้อมฯ ได้จำลองสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดมีระดับความเสียหายรุนแรงถึงขั้นวิกฤตและส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างใหญ่หลวง ดังนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) ในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่งสมควรที่นายกรัฐมนตรีได้ควบคุมสั่งการ ต่อมา นายกรัฐมนตรีได้ประชุมทางไกลร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานถึงความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.สน.) ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อระดมสรรพกำลังและทรัพยากร ควบคุมการสั่งการการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า และให้ มท. จัดทำคำสั่งประกาศสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่งตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และภายหลังสิ้นสุดการฝึกซ้อมฯ นายกรัฐมนตรีได้สนทนากับผู้บริหารหน่วยงาน และมอบนโยบายแก่หน่วยงานที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมฯ

2. การมอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายแก่หน่วยงานที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมฯ ดังนี้

2.1 การปรับทัศนคติ จากเดิม ที่เห็นว่าภัยที่เกิดขึ้นอยู่ไกลตัว เป็น การให้ความสำคัญและจริงจังกับการฝึกซ้อมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศเพื่อกระตุ้นเตือนให้เจ้าหน้าที่ และประชาชนได้ตระหนักรู้ว่าภัยอาจจะอยู่ใกล้ตัวและเกิดจิตสำนึกเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น

2.2 ผู้นำการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ควรจะต้องมีความรอบรู้ และมีความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งต้องเตรียมแผนสำรองที่สองหรือที่สามหรือทางเลือกต่าง ๆ ไว้เพื่อรองรับกรณีที่แผนที่เตรียมไว้มีปัญหาหรือไม่สามารถปฏิบัติได้

2.3 การให้ความสำคัญแก่การจัดทำแผนปฏิบัติราชการรองรับนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติในการกอบกู้สถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดและแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติที่ครอบคลุมทั้งงานด้านสาธารณภัยและความมั่นคง ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนระบบการเตรียมพร้อมของชาติให้เป็นรูปธรรมและพร้อมรองรับต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรอบด้าน โดย สมช. มท. ตร. และกห. ควรจะต้องร่วมกันประสานงานอย่างใกล้ชิด

2.4 ในการเตรียมความพร้อมของชาติ ปัจจัยของความสำเร็จที่สำคัญจะอยู่ที่การเตรียมพร้อมตั้งแต่ในยามปกติทั้งในเรื่องทรัพยากร เครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ ชุดเผชิญสถานการณ์ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ และจะต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในแต่ละระดับความรุนแรงตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และการกอบกู้ฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดภัย โดยเฉพาะในกรอบของแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ 17 ด้าน ในการนี้ มท. ควรจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผน คู่มือบริหารจัดการภัยพิบัติในภัยแต่ละประเภทและแต่ละระดับความรุนแรงที่ชัดเจน และจัดให้มีการฝึกซ้อมการบริหารจัดการสาธารณภัยร้ายแรงเป็นประจำรายปี รวมทั้งเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบแผนปฏิบัติการฯ ทั้ง 17 ด้านได้พัฒนาและนำแผนปฏิบัติการฯ มาทดสอบในการฝึกซ้อมฯ ดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอด้วย

2.5 การพัฒนาระบบงานเตรียมความพร้อมของชาติ คือ การมีเครื่องมือ เครื่องใช้ ทรัพยากร รวมทั้งกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ การเบิกจ่ายงบประมาณ และการรับบริจาคในรูปของตัวเงินและสิ่งของจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างเป็นระบบและคุ้มค่า สามารถนำมาใช้ได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในเรื่องนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) ควรจะเป็นหน่วยหลักร่วมกับ มท. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในการดำเนินการ ส่วน กห. จัดการพัฒนาระบบควบคุมบังคับบัญชาของกองทัพไทย การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อใช้สนับสนุนงานบรรเทาทุกข์การจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการรองรับงานด้านสาธารณภัยและด้านความมั่นคงทางทะเลของกองทัพเรือ และศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในกรอบนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติ จะเป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาระบบงานเตรียมความพร้อมของชาติ ส่วนการติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน ทก. ควรจะมีแผนบริหารจัดการในเรื่องการสื่อสารในยามวิกฤตที่ชัดเจนรวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือสื่อสารให้แก่ผู้บริหารประเทศและหัวหน้าหน่วยงานอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้ตลอดเวลา ซึ่ง ทก. สามารถเป็นหน่วยหลักเร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้ได้ เช่น การจัดให้มีระบบเลขหมายฉุกเฉินเลขหมายเดียวทั่วประเทศเพื่อส่งต่อการรับแจ้งเหตุจากประชาชนไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงทีทั้งในงานด้านสาธารณภัย ด้านบริการทางการแพทย์และด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น

2.6 การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ การตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสาธารณภัยในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหน่วยงานเหล่านี้มีความใกล้ชิดประชาชนและสามารถทำงานในเชิงรุกหรือในเชิงป้องกันได้มาก

3. การประเมินผลการฝึกซ้อมฯ

3.1 การฝึกซ้อมฯ เป็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมฯ ในการประสานแผนและแนวทางปฏิบัติให้ประสานสอดคล้องกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับชาติ ทั้งภายในหน่วยงานและระหว่างหน่วยงานเพื่อให้ประชาชนได้มีทัศนคติและตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือกับสาธารณภัย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติงานจริง จังหวัดมีข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ได้รับ จำนวน 50 ล้านบาทซึ่งไม่เพียงพอ และระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่เอื้อต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยขอให้มีผู้แทน สงป. กระทรวงการคลัง (กค.) ได้เข้าไปประสานงานในพื้นที่ รวมทั้งพิจารณาทบทวน กฎ ระเบียบ ให้สามารถสนับสนุนการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

3.2 หน่วยงานที่ร่วมการฝึกซ้อมฯ จะได้ประเมินผลการฝึกซ้อมฯ ของหน่วย ขณะเดียวกัน สมช. ได้มอบให้คณะนักวิชาการจัดทำรายงานประเมินผลการฝึกซ้อมฯ ให้เห็นถึงข้อดี และปัญหาและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในการฝึกซ้อมครั้งนี้เพื่อเป็นบทเรียนในการพัฒนาการฝึกซ้อมและปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานในระยะต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ