รายงานผลการเจรจาความตกลงจัดตั้งหน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 15:34 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการเจรจาความตกลงจัดตั้งหน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment

Facility : CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างความตกลงจัดตั้งหน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุนและวงเงินที่ประเทศไทยต้องชำระ และนำเสนอร่างความตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในหนังสือตอบตกลง (Instrument of Acceptance) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญในร่างความตกลงและหนังสือตอบตกลงดังกล่าว ขอให้ผู้ลงนามสามารถใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ ได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในความตกลงฯ ดังกล่าว

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. คณะทำงานย่อยมาตรการริเริ่มการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Market Initiative : ABIM) ภายใต้ Task Force 1 : Promoting the Issuance of Local Currency Denominated Bonds (TF1) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน+3 และ ADB ได้ประชุมร่วมกันและได้จัดทำร่างความตกลงจัดตั้งหน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุนเสร็จแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นไปตามกรอบการเจรจาที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

2. การจัดทำร่างความตกลงจัดตั้งหน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุน และการชำระเงินทุนจัดตั้งมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญากับนานาประเทศเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และมีผลผูกพันต่องบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ จึงเห็นควรเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

3. เนื่องจากในระยะแรกของการจัดตั้ง CGIF มีวงเงินที่สามารถค้ำประกันได้จำกัด และจะให้บริการใน ลักษณะ “มาก่อนได้ก่อน” ดังนั้น เพื่อให้ภาคเอกชนไทยสามารถใช้บริการจาก CGIF ได้มากที่สุด สมควรลงนามในหนังสือตอบตกลงในโอกาสแรก จึงมีความเร่งด่วนในการเสนอรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

4. สำหรับแนวทางการชำระเงินทุนจัดตั้ง CGIF โดยที่ร่างความตกลงฯ กำหนดว่า ประเทศผู้ถือหุ้นจะต้องชำระเงินทุนจัดตั้งทั้งหมดภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งก็คือเมื่อกลุ่มประเทศ+3 (สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น) ประเทศสมาชิก ASEAN ใดก็ได้อย่างน้อย 5 ประเทศ และ ADB ลงนามในหนังสือตอบตกลง (Instrument of Acceptance) ซึ่งประเทศสมาชิก ASEAN+3 ส่วนใหญ่แจ้งว่า จะลงนามได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 เป็นต้นไป และจะเริ่มชำระเงินทุนจัดตั้งได้ภายในปี 2553 ซึ่งกระทรวงการคลังได้ดำเนินการยื่นคำของบประมาณเพื่อใช้ชำระเป็นเงินทุนจัดตั้ง CGIF แล้ว โดยปรากฏอยู่ในรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะงบรายจ่ายอื่น วงเงิน 476 ล้านบาท

สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ

1. กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อสนับสนุนให้ผู้ออกตราสารหนี้ในประเทศ ASEAN+3 ออกตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาค ASEAN+3 มากขึ้น และออกตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้น ทำให้การระดมเงินทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดรูปแบบการจัดตั้ง สัดส่วนการถือหุ้น และการชำระเงินทุนจัดตั้งขอบเขตการดำเนินงานของ CGIF สัดส่วนของทุนต่อการค้ำประกัน และโครงสร้างการบริหารงานของ CGIF

2. วงเงินที่ประเทศไทยต้องชำระเป็นเงิน 12.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ