การลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 15:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติการลงนามในพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการ ชุดที่ 8 ภายใต้อาเซียน และพิจารณานำเสนอพิธีการฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการให้พิธีสารฯ มีผลใช้บังคับต่อไป

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ได้รับมอบหมายอื่น เป็นผู้ลงนามในพิธีสารฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญในพิธีสารฯ ให้คณะรัฐมนตรีมอบให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรีได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ได้รับมอบหมายอื่นลงนามในพิธีสารฯ

4. เมื่อรัฐสภาเห็นชอบตามข้อ 1) แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือแจ้งเลขาธิการอาเซียนว่าประเทศไทยได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในเสร็จสิ้นแล้วเพื่อพิธีสารฯ มีผลใช้บังคับ

เรื่องเดิม

การเจรจาเปิดตลาดการค้าบริการในอาเซียนดำเนินการภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) โดยสมาชิกทยอยเปิดตลาดในระดับที่สูงขึ้นตามแผนเปิดตลาด อาเซียนเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจ (AEC) ภายในปี พ.ศ. 2558

อาเซียนมีกำหนดลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 17 ในเดือนตุลาคม 2553 ส่วนตารางข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 จะยังไม่แนบไปพร้อมกับพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 เนื่องจากอาเซียนตกลงกันว่าสมาชิกสามารถส่งตารางข้อผูกพันได้ภายหลัง รวมทั้งสามารถทยอยยื่นสาขาบริการได้จนกว่าจะครบตามเป้าหมาย

ข้อเท็จจริง

พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ภายใต้อาเซียน มีสาระสำคัญ ดังนี้

  • พิธีสารฯ และข้อผูกพันที่อยู่ในภาคผนวกท้ายพิธีสารฯ จะมีผลใช้บังคับในเก้าสิบ (90 วัน) ภายหลังจากวันที่ประเทศสมาชิกได้ลงนาม
  • สำหรับประเทศสมาชิกที่ไม่สามารถแจ้งการดำเนินตามกระบวนการภายในของตนให้แล้วเสร็จได้ภายในเก้าสิบ (90) วันนับจากวันที่ลงนาม สิทธิและภาระผูกพัน (rights and obligations) ของประเทศนั้น ๆ ภายใต้พิธีสารฯ และภาคผนวกท้ายพิธีสารฯ จะเกิดขึ้นในวันที่ประเทศสมาชิกแจ้งให้ฝ่ายเลขาธิการอาเซียนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในของตนเสร็จสิ้นแล้ว

ทั้งนี้ สำหรับข้อผูกพันฯ ที่เป็นภาคผนวกท้ายพิธีสารฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสารฯ นั้น ภายใต้แผนงาน การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) กำหนดเป้าหมายเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ไว้จำนวน 80 สาขา โดยประเทศสมาชิกสามารถยื่นข้อผูกพันเปิดตลาดสาขาบริการจำนวน 80 สาขาไปในครั้งเดียวได้ หรือหากไม่สามารถยื่นข้อผูกพันได้ครบถ้วนในครั้งเดียว สมาชิกสามารถทยอยยื่นสาขาบริการเพิ่มเติมได้ภายหลังจนกว่าจะครบ 80 สาขา หมายความว่า ข้อผูกพันที่อยู่ในภาคผนวกซึ่งแนบท้ายพิธีสารฯ ที่จะมีการลงนามไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ หรือประเทศสมาชิกสามารถใช้ข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 7 แทนไปก่อนก็ได้ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนมีแผนงานที่จะต้องเปิดเสรีสาขาบริการเหล่านี้เพิ่มเติมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการลดอุปสรรคในการเข้ามาให้บริการของอาเซียนจากเดิมที่ผูกพันไว้ในข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 7 อาทิ จำนวนผู้ให้บริการและสัดส่วนการถือหุ้น เป็นต้น

สำหรับการลงนามในพิธีสารฯ ในส่วนของประเทศไทยนั้น ไทยจะยังไม่แนบตารางข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ของไทย ที่เป็นเอกสารแนบอยู่ในภาคผนวกท้ายพิธีสารฯ ที่จะลงนาม แต่จะใช้ตารางข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 7 ซึ่งเป็นข้อผูกพันที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนี้แทน ซึ่งผูกพันเปิดตลาดบริการจำนวน 65 สาขาให้อาเซียนถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยรัฐสภาได้มีมติให้ความเห็นชอบตารางข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 7 แล้วในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 12 และ 14 พฤษภาคม 2552

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ