การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 6

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 15:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม 3 ฉบับ ได้แก่ 1.Draft Ministerial Declarations on Environment and Development 2.Draft Astana “Green Bridge” lnitiative : Europe-Asia-Pacific Partnership for lmplementation of “Green Growth” 3.Draft the Regional lmplemantation Plan for Sustainable Development in Asia and the Pacific ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาให้การรับรองเอกสารดังกล่าวตามความเหมาะสม

สาระสำคัญของเรื่อง

1. Draft Ministerial Declarations on Environment and Development เป็นแถลงการณ์รัฐมนตรี ซึ่งมีเนื้อหาที่มุ่งหวังให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคในการส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่าการเติบโตสีเขียว (Green Growth) เพื่อเป็น รากฐานสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการจัดการกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคด้วย นอกจากนี้ ยังมุ่งที่จะส่งเสริมเครือข่ายการแบ่งปันความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาความยากจนและแนวความคิดเรื่องการเติบโตสีเขียว การเสริมสร้างศักยภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านกระบวนการความร่วมมือระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา (North-South Cooperations) และความร่วมมือในระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง (South-South Cooperation) เพื่อกระตุ้นและอำนวยความสะดวกให้เกิดการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศน์และทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พ.ศ. 2554 — 2558 (The Regional lmplementations Plan for Sustainable Development in Asia and the Pacific 2011 — 2015)

2. Draft Astana “Green Bridge” lnitiative : Europe-Asia-Pacific Partnership for lmplementation of “Green Growth” เป็นเอกสารที่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดตั้งความเป็นหุ้นส่วนระหว่าง ยุโรป — เอเชีย —แปซิฟิก เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาจากแบบเดิม ๆ ไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การริเริ่มดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนความร่วมมือภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคโดยใช้แนวทางกระตุ้นให้เกิดการเจรจาด้านนโยบายระดับสูง ที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นและยังคงดำเนินอยู่ การเสริมสร้างศักยภาพของผู้กำหนดนโยบายการพัฒนากลไกใหม่ ๆ และส่งเสริมกลไกที่มีอยู่ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ในเอเชียและแปซิฟิก การพัฒนากลไกเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและเป็นหนทางในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม

3. Draft the Regional lmplemantation Plan for Sustainable Development in Asia and the Pacific (2011 — 2015) เป็นแผนปฏิบัติการของภูมิภาคที่มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะมีการทบทวนสถานภาพของการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมถึงพิจารณาแนวทางการดำเนินงานต่อไปช่วงปี พ.ศ.2554 — 2558 ในลักษณะของการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน ประชาสังคม หรือองค์กรระหว่างประเทศ ก็ตาม โดยกำหนดสาขาที่ต้องดำเนินการเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การปรับปรุงขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศน์ การปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจ การปรับปรุงการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืนการปรับปรุงการจัดการด้านพลังงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การปรับปรุงการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การปรับปรุงความเข้มแข็งของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ — สังคม เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฉบับนี้ เป็นแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยไม่มีข้อผูกพันในเชิงงบประมาณ และเป้าหมายในการดำเนินงาน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ