ผลการเดินทางเยือนมหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 15, 2010 15:43 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการเดินทางเยือนมหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) และคณะ

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเดินทางเยือนมหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) และคณะ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) ได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนไทยเดินทางเยือนมหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน ตลอดจนใช้โอกาสที่กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมต่อยอดธุรกิจจากการจัดงานมหกรรมระดับโลก World Expo 2010 ที่รัฐบาลมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นเจ้าภาพ และเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเป็นทางการครบ 35 ปี ได้แก่ งาน Thailand Trade Expo และการจัดงาน Dinner Talk & Business Networking ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม — 1 สิงหาคม 2553 นั้น

สาระสำคัญของเรื่อง

1. การเปิดงาน Thailand Trade Expo ครั้งที่ 4

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Trade Expo ครั้งที่ 4 ณ ห้างซุปเปอร์แบรนด์มอลล์ มหานครเซี่ยงไฮ้ ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย งานแสดงสินค้าดังกล่าวมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานดังกล่าวกว่า 50 บริษัท/70 คูหา สินค้าที่แสดงประกอบด้วยสินค้าอาหาร ของใช้ในบ้าน ของขวัญของชำร่วย อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษ ได้แก่ นิทรรศการสินค้าไทยที่ได้รับรางวัล Prime Minister’s Award และ Thailand’s Brand นิทรรศการและการสาธิตข้าวหอมมะลิไทย เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคจีนรู้จักข้าวหอมมะลิไทยดียิ่งขึ้น นิทรรศการสินค้านวัตกรรมจากดินสอพองซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลไม้ไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกิจกรรมพิเศษบนเวทีที่ถ่ายทอดเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในด้านต่างๆ

การจัดงาน Thailand Trade Expo ครั้งที่ 4 นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และกระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินผลเบื้องต้นจากข้อมูลที่ได้รับจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานว่ามียอดจำหน่ายสินค้าทันทีสูงถึง 18 ล้านบาท และจะมีมูลค่าซื้อขายต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 140 ล้านบาทภายใน 1 ปี ทั้งนี้ การจัดงาน Thailand Trade Expo 3 ครั้งที่ผ่านมาในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม 2553 รวมระยะเวลาจัดงาน 21 วัน มีผู้มาเยี่ยมชมงานและสั่งซื้อสินค้ารวมประมาณ 600,000 คน ยอดจำหน่ายสินค้ารวมประมาณ 460 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการพบปะหารือระหว่างนักธุรกิจไทย-จีนที่เกิดขึ้นภายในงานที่คาดว่าจะพัฒนาไปสู่ ความร่วมมือระหว่างกัน ที่สำคัญ ได้แก่

1) ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศกับบริษัท Royal Thaiseberg Co.,Ltd. เพื่อทำการตลาดให้กับสินค้าภายใต้แบรนด์ “Global Sacict” ในตลาดจีนตะวันออก

2) บริษัท M&P World ซึ่งส่งออกสินค้าของเด็กเล่นได้มีการเจรจาธุรกิจต่อเนื่องตลอดงาน และคาดว่าจะได้รับคำสั่งซื้อคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2,500 ล้านบาท

3) กลุ่มนักออกแบบหน้าใหม่ของไทยที่รวมตัวกันภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมการ-ส่งออกภายใต้ชื่อ “Designers’ Room” ได้รับความสนใจจากบริษัท Mark Fairwhale ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นชั้นนำที่มีชื่อเสียงของจีนและมีร้านค้าจำหน่ายกว่า 900 แห่งทั่วประเทศจีน เพื่อร่วมกันออกแบบและทำการตลาดสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปในตลาดจีน

4) สปาชื่อดังของนครเซี่ยงไฮ้ร่วมกับสปาไทย เพื่อพัฒนาและฝึกอบรมพนักงานนวดไทยจำนวน 100 คนต่อปี

2. การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างไทย-จีน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) หลายฉบับในวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ที่สำคัญได้แก่

1) ระหว่างกรมส่งเสริมการส่งออก หอการค้าไทยในจีน และบริษัท CP Lotus เพื่อขยายช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าไทยสู่ตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างยั่งยืนและส่งเสริมประชาสัมพันธ์การสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคจีน

2) ระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนจีน เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไทยในตลาดจีนผ่านช่องทางเชนสโตร์ และร้านจำหน่ายสินค้าของขวัญของตกแต่งบ้าน (Flagship Store) ในจีนที่จะเปิดขึ้นเป็นแห่งแรกในมหานครเซี่ยงไฮ้

3. การจัดงาน Dinner Talk & Business Networking

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานเปิดงาน Dinner Talk & Business Networking ในค่ำวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจนักลงทุนจีนในประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน และสร้างโอกาสให้กับคณะผู้แทนภาคเอกชนไทยในการพบปะกับภาคเอกชนจีน อันจะนำไปสู่การขยายเครือข่ายทางธุรกิจและ ขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันต่อไป โดยรองประธานหอการค้าไทยในจีน (นายประเสริฐศักดิ์ องค์วัฒนกุล) เป็นผู้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “China-Thailand : Strategic Partners to Regional and Global Prosperity” การจัดงานดังกล่าวนี้ได้ผลตอบรับดีเกินกว่าที่คาดหมายไว้ โดยมีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนจีนทั้งจากมหานครเซี่ยงไฮ้และจากหลายมณฑลของจีนได้เดินทางมาร่วมงานกว่า 300 คน

4. การประชุมมอบนโยบายผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคจีน

ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าการลงทุนไทยในจีน และทิศทางนโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทยต่อตลาดจีนกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่สำนักงานตั้งอยู่ในประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน รวม 10 แห่ง โดยมีผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางเข้าร่วมด้วย สรุปผลได้ ดังนี้

1) การค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 43.5 คิดเป็นมูลค่า 179,755 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2553 นับว่าเป็นการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่า 18,039 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 46.3 โดยมีจีนเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทยด้วยสัดส่วนตลาด ร้อยละ 10.9 มูลค่าส่งออก 10,102 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 47.8 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการส่งออกของไทยไปฮ่องกงอีก 5,960 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 39.5 และไต้หวันอีก 1,462 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 50.7

2) กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศปรับเป้าหมายการส่งออกปี 2553 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 183,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนของตลาดจีนซึ่งการส่งออกของไทยมีอัตราขยายตัวสูง กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกเป็นร้อยละ 30 จากเดิมที่กำหนดไว้เมื่อช่วงต้นปีเพียง ร้อยละ 15

3) ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากทั้งในเชิงจำนวนประชากรและระดับรายได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการค้าในกรอบอาเซียน-จีน โดยได้กำหนดให้นครคุนหมิงและนครหนานหนิงเป็นเมืองหน้าด่านหรือประตูการค้าสู่ภูมิภาคอาเซียน

4) ปัญหาอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดจีนที่สำคัญ ได้แก่

  • ปัญหาจากมาตรการทางการค้าของรัฐบาลจีน อาทิ ระเบียบด้านสุขอนามัยพืชและ สัตว์ มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม มาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งมีผลทำให้การจำหน่ายสินค้าไทยในตลาดจีนทำได้ยากหรือมีต้นทุนประกอบการสูง
  • ปัญหาจากโครงสร้างตลาดและด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งปัจจัยเรื่องระยะทางขนส่งและ ต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกระจายสินค้าเกษตรไทยไปยังมณฑลต่างๆ และกระทบต่อคุณภาพสินค้าเมื่อถึงปลายทาง

5) ที่ประชุมเห็นควรจัดลำดับให้ความสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณขยายตลาดไปยังภูมิภาคจีนให้เพิ่มมากขึ้น โดยให้พิจารณาจากกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในมณฑลต่างๆ และให้ขยายพื้นที่ตลาดไปยังมณฑลอื่นๆที่ไทยยังไม่ได้รุกขยายตลาดเข้าไปมากนัก ตลอดจนให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายรัฐบาลจีนสำคัญๆ และกับโครงสร้างความมั่งคั่งของตลาดจีนที่ปรับเปลี่ยนจากบนสู่ล่าง จากรัฐสู่เอกชน และจากตะวันออกสู่ตะวันตก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายให้ทุกสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคจีน เร่งพิจารณาเสนอโครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดรูปแบบใหม่ตามแนวทางนโยบายที่กำหนดไว้ข้างต้น เพื่อกระตุ้นการส่งออกของไทยไปยังตลาดจีนให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

5. การเข้าเยี่ยมคารวะของคณะผู้แทนการค้าจากมณฑลต่างๆ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้พบปะหารือกับคณะผู้แทนการค้าจากมณฑลต่างๆ จำนวน 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมืองเหยียนเชิง มณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในมณฑล และเป็นเมืองที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนของบริษัทไทยหลายโครงการ 2) คณะรองอธิบดีกรมความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าและเทคโนโลยีของมณฑลจี๋หลินและ 3) คณะประธาน CCPIT มหานครเซี่ยงไฮ้ โดยได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) ไทย-จีนยังมีศักยภาพในการขยายตลาดการค้าการลงทุนระหว่างกันได้อีกมากโดยเฉพาะภายใต้นโยบายรัฐบาลจีนปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียนอย่างมาก ประเทศไทยจึงมีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางอาเซียน จึงขอให้ฝ่ายจีนพิจารณาใช้ประโยชน์จากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าว และขอเชิญชวนนักธุรกิจจีนไปลงทุนในประเทศไทย รัฐบาลไทยยินดีให้การสนับสนุนโดยเฉพาะในสาขาการลงทุนที่รัฐบาลให้การส่งเสริม

2) ปัจจุบัน นักลงทุนไทย อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทสามมิตรมอเตอร์ ได้ไปลงทุนในกิจการด้านการเกษตรและโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งในเมืองเหยียนเชิง มณฑลเจียงซู และในมณฑลจี๋หลิน นอกจากนี้ ยังมีกิจการโรงงานกระดาษ AA ที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนตั้งโรงงานผลิตกระดาษในเมืองเหยียนเชิงอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีนักลงทุนไทยอีกจำนวนมากที่สนใจที่จะไปลงทุนในมณฑลต่าง ๆ ของจีน เพื่อใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อสนองต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศจีนและ/หรือส่งออกไปยังตลาดประเทศที่สาม ฝ่ายจีนได้เชื้อเชิญให้ฝ่ายไทยไปลงทุนในเมือง/มณฑลต่าง ๆ โดยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนนักลงทุนไทยเป็นพิเศษ

3) เห็นชอบร่วมกันให้มีการจัดนำคณะผู้แทนการค้าเยือนระหว่างกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์สองฝ่าย และใช้โอกาสดังกล่าวในการสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุนต่อไป

6. งานเลี้ยงรับรองโดยสมาคมมิตรภาพกับต่างประเทศของประชาชนนครเซี่ยงไฮ้

สมาคมมิตรภาพ กับต่างประเทศของประชาชนนครเซี่ยงไฮ้ได้จัดเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะ โดยมี Mr. Zhou Muyao อดีตรองนายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้ และรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ เป็นประธานฝ่ายจีน เมื่อคืนวันที่ 29 กรกฎาคม 2553

ในโอกาสดังกล่าวนี้ ฝ่ายไทยได้กล่าวให้ความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทย และขอให้ฝ่ายจีนช่วยประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยที่ถูกต้องให้ชาวนครเซี่ยงไฮ้ได้ทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการจีน เพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและกระจายสินค้าไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศที่สาม

7. การเยี่ยมชมงาน World Expo 2010

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะได้ไปเยือนงาน World Expo 2010 ซึ่งนับได้ว่าเป็นงาน World Expo ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติการณ์ มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมออกงานมากที่สุด คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่น้อยกว่า 75 ล้านคนในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของการจัดงาน โดยได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม Thai Pavilion ซึ่งได้รับความนิยมสูงเป็นลำดับต้นๆจากผู้มาเยี่ยมชมงาน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ