เรื่อง สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “มินดอลเล” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
(ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม-13 กันยายน 2553)
คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “มินดอลเล” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม-13 กันยายน 2553) ของกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
1. สรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม -13 กันยายน 2553)
1.1 พื้นที่ประสบภัย 25 จังหวัด 93 อำเภอ 401 ตำบล 2,573 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พะเยา พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ มุกดาหาร สระบุรี นครนายก ลพบุรี ชัยภูมิ อุดรธานี สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และจังหวัดอุบลราชธานี ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 156,847 ครัวเรือน 563,479 คน อพยพ 116 ครัวเรือน 461 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 277,564 ไร่ ผู้เสียชีวิต 2 ราย (พะเยา 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย)
1.2 สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก สระบุรี นครนายก ลพบุรี และจังหวัดชัยภูมิ ดังนี้
1) จังหวัดสุโขทัย น้ำในแม่น้ำยมเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรริมฝั่งในพื้นที่ 8 อำเภอ 71 ตำบล 542 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 25,415 ครัวเรือน 95,796 คน ได้แก่ อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมือง อำเภอกงไกรลาศ อำเภอคีรีมาศ อำเภอทุ่งเสลี่ยม และอำเภอบ้านด่านลานหอย ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำยมของอำเภอกงไกรลาศ ที่ตำบลกง
2) จังหวัดพิษณุโลก น้ำในแม่น้ำยมมีปริมาณสูงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎรริมฝั่งซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ 2 อำเภอ 27 ตำบล 131 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอบางระกำ และอำเภอเมือง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,464 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 39,555 ไร่ บ่อปลา 46 บ่อ ถนน 6 สาย
3) จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและ ที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 5 อำเภอ 16 ตำบล 23 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอบ้านหมอ อำเภอวิหารแดง อำเภอเมือง อำเภอแก่งคอย และอำเภอหนองแค ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 6,897 คน พื้นที่การเกษตร 58,463 ไร่ บ่อปลา 394 บ่อ
4) จังหวัดนครนายก ระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 2 อำเภอ 8 ตำบล ได้แก่ อำเภอปากพลี และอำเภอบ้านนา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 51 ครัวเรือน 153 คน พื้นที่การเกษตร 50 ไร่
5) จังหวัดลพบุรี ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2553 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำท่วมขังที่ลุ่มต่ำการเกษตรและเขตเทศบาลเนื่องจากระบายไม่ทันในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโคกสำโรง และอำเภอเมือง
6) จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 2 อำเภอ 6 ตำบล 101 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอหนองบัวระเหว และอำเภอภักดีชุมพล เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ปัจจุบันน้ำได้ไหลลงไปท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำชีของอำเภอบ้านเขว้า และอำเภอจัตุรัส ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 14,900 คน พื้นที่การเกษตร 29,227 ไร่ บ่อปลา 615 บ่อ
- สถานการณ์อุทกภัยอันเนื่องมาจากฝนตกหนัก น้ำล้นตลิ่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มการเกษตร ริมฝั่งแม่น้ำในพื้นที่ 2 จังหวัด ดังนี้
1) จังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านมีปริมาณสูงขึ้น ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรของอำเภอชุมแสง 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางเคียน และตำบลโคกหม้อ พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 2,538 ไร่ ระดับน้ำทรงตัว
2) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำน้อยมีปริมาณสูงขึ้น ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มการเกษตรใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร (แม่น้ำเจ้าพระยา) อำเภอมหาราช (แม่น้ำลพบุรี) อำเภอผักไห่ และอำเภอบางบาล (แม่น้ำน้อย) ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น
- เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2553 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากกัดเซาะถนนสาย แม่สรวย-วารี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 13-14 บ้านทุ่งพร้าว หมู่ที่ 8 ตำบลวาวีอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 100 เมตร ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ จังหวัด สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งซ่อมแซมในเบื้องต้นแล้ว และเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. วันนี้ (13 ก.ย.53) เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่ตำบลนางแล อำเภอเมือง ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
1.3 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ
1) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง จัดส่งรถผลิตน้ำดื่ม จำนวน 1 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 3 คัน และกำลังพล จำนวน 12 นาย สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2553
- ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร สนับสนุนเรือท้องแบน 7 ลำ กำลังพล 10 นาย สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร
- ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 พิษณุโลก จัดส่งกำลังพล 15 นาย เรือท้องแบน 5 ลำ รถบรรทุกติดปั้นจั่น 1 คัน รถส่องสว่าง 1 คัน รถกู้ภัยขนาดเล็ก 1 คัน รถบรรทุก 2 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์
2) กรมชลประทาน
ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,200 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 582 เครื่อง ในพื้นที่ 52 จังหวัด
3) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก
- ฉก.ร.7 และร้อย ร.751 จัดกำลังพลรวม 35 นาย และ รยบ. 2 1/2 ตัน จำนวน 2 คัน เข้าให้การช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของกับราษฎร ในพื้นที่บ้านนาหมากปน ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ม.พัน 12 จัดกำลังพลรวม 65 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์ เข้าช่วยเหลือ ในการลอกคลองตัดต้นไม้ที่ล้มกีดขวางการไหลของน้ำ ขนย้ายสิ่งของ และทำความสะอาดบ้านเรือนที่ถูก น้ำท่วมในพื้นที่ บ้านไผ่โทน ตำบลไผ่โทน และบ้านร้องกวาง ตำบลร้องกวาง อำเภอร้องกวาง และบ้านปงคำ ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่
- ม.พัน.7 จัดชุดบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 2 ชป.(24 นาย) และ รยบ. 2 1/2 ตัน จำนวน 1 คัน เข้าให้การช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของให้กับราษฎร ในพื้นที่ตำบลสองคอน และตำบลฟากท่า อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์
- จทบ.น.น. จัดกำลังพล จำนวน 36 นาย รยบ. จำนวน 3 คัน และเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ จำนวน 3 ลำ จาก ช.พัน.302 เข้าให้การช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของ แจกจ่ายถุงยังชีพ อาหาร และน้ำดื่ม ให้กับราษฎรในพื้นที่ตำบลสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน
- จทบ.พ.ล./ศบภ.จทบ.พ.ล. จัดกำลังพลรวม 53 นาย และ รยบ. 2 คัน เข้าให้การช่วยเหลือใน การจัดทำสิ่งกีดขวางป้องกันกระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งพัง ผสมปูนใส่กระสอบทราย วางเป็นแนวป้องกันตลิ่งพัง และปักเสาเข็มบริเวณคลองต้นข้อ ตำบลปากแคว อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
- ศบภ.มทบ.21 จัดกำลังพล 30 นาย สนับสนุนการขนย้ายสิ่งของที่จำเป็น จัด รยบ. ขนาดเล็ก 2 คัน และ รยบ. ขนาดใหญ่ 2 คัน สนับสนุนการขนส่งมวลชนในพื้นที่ จัดเรือท้องแบน 2 ลำ และแจกจ่ายกระสอบทราย จำนวน 4,000 ใบ เข้าให้การช่วยเหลือในพื้นที่ ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
- พล.พัฒนา 2 จัดกำลังพล 70 นาย รถยนต์เทท้าย 10 ตัน 2 คัน รถยูนิม็อก 1 คัน รถหัวลาก 1 คัน และรถตัก 1 คัน เข้าให้การช่วยเหลือในพื้นที่บ้านพลวงน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
4) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
- ศบภ.นพค.35 สนภ.3 นทพ. จัดกำลังพล 33 นาย รยบ.สัมภาระ 1 คัน รยบ.เทท้าย 2 คัน รยบ.ขนาดเล็ก 1 คัน และเรือท้องแบน 2 ลำ เข้าช่วยเหลือในพื้นที่ตำบลยางฮอม (หมู่ที่ 1) ตำบลป่าตาล (หมู่ที่ 5,9) และตำบลต้า (หมู่ที่ 4,14) อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย และได้จัดกำลังพล 40 นาย รยบ.สัมภาระ 2 คัน รยบ.เทท้าย 2 คัน รยบ.ขนาดเล็ก 2 คัน และเรือท้องแบน 3 ลำ เข้าให้การช่วยเหลือในพื้นที่อำเภอขุนตาล อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเวียงชัย และอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย
1.4 สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้พระราชทาน ถุงยังชีพ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา น่าน และจังหวัดสุโขทัย รวมจำนวน 7,000 ครอบครัว
2) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำชุดธารน้ำใจพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง แพร่ นครสวรรค์ เชียงราย อุตรดิตถ์ พิจิตร นครนายก เพชรบูรณ์ หนองคาย และจังหวัดอุดรธานี รวมจำนวน 9,662 ชุด และน้ำดื่ม 14,700 ขวด
3) กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง แพร่ แม่ฮ่องสอน และจังหวัดน่าน รวมจำนวน 3,650 ชุด
4) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ และจังหวัดปทุมธานี รวมจำนวน 8,259 ถุง และอาหารกล่อง จำนวน 3,500 กล่อง
2. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 13 — 18 กันยายน 2553
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในวันที่ 13 กันยายน 2553 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังมีฝนหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนในช่วงวันที่ 14-18 กันยายน 2553 ร่องมรสุมนี้จะเลื่อนลงมาพาดผ่านตอนกลางของประเทศ และจะมีกำลังแรงขึ้นทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนหนาแน่นต่อไปอีก ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ใกล้ทางน้ำไหลผ่านของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในระยะนี้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศ ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต ทรัพย์สิน และผลิตผลทางการเกษตรของประชาชนแล้ว และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น
อนึ่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว (ระหว่างวันที่ 7-13 กันยายน 2553) จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าได้เกิดแผ่นดินไหว ที่มีความรุนแรงมากกว่า 5 ริกเตอร์ แต่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 เวลา 00.15 น. แผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.2 ริกเตอร์ บริเวณตอนใต้เกาะสุมาตรา และเวลา 07.57 น. แผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.8 ริกเตอร์ บริเวณตะวันตกเฉียงใต้เกาะสุมาตรา และเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2553 เวลา 14.12 น. แผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.8 ริกเตอร์ บริเวณ ฮัลมาเฮรา ประเทศอินโดนีเซีย และเวลา 18.43 น. แผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 5.4 ริกเตอร์ บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กันยายน 2553--จบ--