ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 14:15 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ....

ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ

ข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 4 ฉบับ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 4 ฉบับ ตามที่ประธานรัฐสภาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ข้อเท็จจริง

ประธานรัฐสภาเสนอว่า

1. ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2551 และส่วนราชการรัฐสภาชะลอการนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับกับข้าราชการรัฐสภาสามัญ เนื่องจากอาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะการบริหารราชการฝ่ายรัฐสภายังคงเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบัญญัติไว้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดังนั้น เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลของราชการฝ่ายรัฐสภาสอดคล้องกับการบริหารราชการที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว

2. โดยที่บทบัญญัติของพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บังคับใช้มาเป็นเวลานานแล้ว และมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับการบริหารราชการที่เปลี่ยนแปลงไปดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชการของราชการฝ่ายรัฐสภาสอดคล้องกับการบริหารราชการที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเช่นเดียวกัน

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ....

1.1 กำหนดคำนิยามคำว่า “รัฐสภา” “สภาผู้แทนราษฎร” “วุฒิสภา” “ประธานรัฐสภา” “รองประธานรัฐสภา” และ “ก.ร.” (ร่างมาตรา 4)

1.2 กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น เป็นส่วนราชการสังกัดรัฐสภา มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 5)

1.3 กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎร มีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้บังคับบัญชา และกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของวุฒิสภา มีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้บังคับบัญชา (ร่างมาตรา 9 — ร่างมาตรา 10)

1.4 กำหนดให้การแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นให้ทำเป็นประกาศรัฐสภา (ร่างมาตรา 11)

1.5 กำหนดให้ ก.ร.มีอำนาจออกระเบียบรัฐสภาหรือประกาศรัฐสภาเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 14)

1.6 กำหนดบทเฉพาะกาลในวาระเริ่มแรก ให้นำกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดที่ใช้บังคับแก่ข้าราชการพลเรือน พนักงานราชการ หรือลูกจ้าง มาใช้บังคับแก่ข้าราชการรัฐสภา พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาโดยอนุโลม และให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปเป็นของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 16 — ร่างมาตรา 19)

2. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ....

2.1 กำหนดคำนิยามคำว่า “ข้าราชการรัฐสภา” “ประธานรัฐสภา” “รองประธานรัฐสภา” “รัฐสภา” และ “ก.ร.” (ร่างมาตรา 4)

2.2 กำหนดให้ข้าราชการรัฐสภา มี 2 ประเภท คือ ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของข้าราชการรัฐสภา เครื่องแบบของข้าราชการรัฐสภา การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการรัฐสภา (ร่างมาตรา 7 — ร่างมาตรา 13)

2.3 กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา เรียกโดยย่อว่า “ก.ร.” ประกอบด้วย ประธานรัฐสภาเป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐสภาเลือกจำนวนไม่เกินแปดคนเป็นกรรมการ กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุม ก.ร. ตลอดจนอำนาจหน้าที่ของ ก.ร. (ร่างมาตรา 14 — ร่างมาตรา 22)

2.4 กำหนดการจัดระเบียบข้าราชการรัฐสภาสามัญให้คำนึงถึงระบบคุณธรรม และข้าราชการรัฐสภามีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม (ร่างมาตรา 23 — ร่างมาตรา 24)

2.5 กำหนดเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง และการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาสามัญ เช่น ข้าราชการรัฐสภาสามัญมี 4 ประเภท คือ ประเภทบริหาร ประเภทอำนวยการ ประเภทวิชาการ ประเภททั่วไป ให้ ก.ร.จัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง จำแนกตำแหน่งเป็นประเภทและสายงานตามลักษณะงานให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งในแต่ละประเภทตามที่กำหนดไว้ในบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง และให้ข้าราชการรัฐสภาอาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งในบางสายงานหรือตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ เป็นต้น (ร่างมาตรา 25 — ร่างมาตรา 33)

2.6 กำหนดเกี่ยวกับการสรรหา การบรรจุ และการแต่งตั้ง เช่น การสรรหาเพื่อให้ได้บุคคลมาบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรม กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ กำหนดผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง กำหนดเกี่ยวกับการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการรัฐสภา เป็นต้น (ร่างมาตรา 34 — ร่างมาตรา 51)

2.7 กำหนดเกี่ยวกับการเพิ่มพูนประสิทธิภาพ และเสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการ เช่น ให้ส่วนราชการสังกัดรัฐสภามีหน้าที่ดำเนินการให้มีการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจแก่ข้าราชการ ผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตนต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างมีคุณธรรมและเที่ยงธรรม ข้าราชการรัฐสภาสามัญผู้ใดถึงแก่ความตาย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ให้พิจารณาเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น (ร่างมาตรา 52 — ร่างมาตรา 57)

2.8 กำหนดเกี่ยวกับเรื่องวินัยและการดำเนินการทางวินัย เช่ย โทษทางวินัย มี 5 สถาน การลงโทษข้าราชการรัฐสภาสามัญให้ทำเป็นคำสั่ง กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการสืบสวน สอบสวนทางวินัย การสั่งลงโทษทางวินัย เป็นต้น (ร่างมาตรา 58 — ร่างมาตรา 76)

2.9 กำหนดเกี่ยวกับการออกจากราชการ เช่น กำหนดเหตุแห่งการออกจากราชการ กำหนดให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญที่มีอายุครบ 60 ปี และทางราชการมีความจำเป็นที่จะให้รับราชการต่อไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการ จะให้รับราชการต่อไปอีกไม่เกิน 10 ปี กำหนดเกี่ยวกับการออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน เป็นต้น (ร่างมาตรา 77 — ร่างมาตรา 83)

2.10 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอุทธรณ์ การร้องทุกข์ และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ (ร่างมาตรา 84 — ร่างมาตรา 88)

2.11 กำหนดเกี่ยวกับข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง เช่น กำหนดตำแหน่งข้าราชการรัฐสภา ฝ่ายการเมือง ให้ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการแต่งตั้งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง กำหนดเหตุแห่งการออกจากตำแหน่ง เป็นต้น (ร่างมาตรา 89 — ร่างมาตรา 92)

2.12 กำหนดเกี่ยวกับบทเฉพาะกาล เช่น ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา ให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญหรือข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญหรือข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎ ประกาศ หรือระเบียบหรือกรณีที่กำหนดไว้แล้วซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ เป็นต้น (ร่างมาตรา 93 — ร่างมาตรา 100)

2.13 กำหนดบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาสามัญ บัญชีเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง แนบท้ายพระราชบัญญัตินี้

3. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

3.1 แก้ไขเพิ่มเติมอัตราตำแหน่งและเงินเดือนข้าราชการการเมืองให้เป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11(เดิม))

3.2 แก้ไขเพิ่มเติมอัตราเงินประจำตำแหน่งและการรับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการการเมือง ให้เป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 (เดิม))

3.3 กำหนดมิให้นำบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือน และบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการพลเรือนท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538 มาใช้บังคับแก่ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538 (ร่างมาตรา 5 — ร่างมาตรา 6)

4. ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

แก้ไขเพิ่มเติมให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ หรือข้าราชการรัฐสภาสามัญ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญหรือระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโสหรือระดับทักษะพิเศษ ซึ่งจะต้องพ้นจากราชการตามมาตรา 19 อาจรับราชการต่อไปได้ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา แล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19 สัตต (เดิม))

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ