ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 14:25 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ..)

พ.ศ. .... และการปรับระบบบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการพิจารณาในภาพรวมเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และการปรับระบบบริหารงานบุคคล ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ โดย

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ และความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

2. ระงับการดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติมีมติให้คงเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาไว้ก่อน

3. อนุมัติหลักการร่างกฎ ก.พ.อ.ว่าด้วยการกำหนดบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

4. อนุมัติหลักการร่างกฎ ก.พ.อ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือน พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

5. เห็นชอบให้นำหลักการระบบการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญมาปรับใช้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

6. เห็นชอบการคงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้แก่ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งแตกต่างจากโครงสร้างตำแหน่งที่ ก.พ.อ.กำหนดจนกว่าจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างตำแหน่งที่ ก.พ.อ.กำหนด ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม

7. สำหรับงบประมาณเพื่อรองรับระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้กระทรวงศึกษาธิการทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสม

8. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ข้อเท็จจริง

คณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติเสนอว่า ได้พิจารณาแล้วมีมติให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาการกำหนดค่าตอบแทนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาในภาพรวม ดังนี้

1. ระยะสั้น เห็นควรให้ปรับบัญชีอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาโดยเทียบเคียงกับค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนสามัญ ดังนี้

1.1 ปรับบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอเฉพาะระดับ คศ.1 — คศ. 4 ยกเว้นเงินเดือนขั้นสูงของระดับ คศ. 5 เห็นควรกำหนดขั้นสูงที่ 64,340 บาท ซึ่งเทียบเคียงกับเงินเดือนประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ของข้าราชการพลเรือนสามัญ (อัตรา 66,480 บาท สำหรับเฉพาะสายงานแพทย์และสายงานนักกฎหมายกฤษฎีกาเท่านั้น) และคงเงินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้ก่อน

1.2 ปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และคงเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาไว้ก่อน ทั้งนี้ มีประเด็นข้อสังเกตว่าควรมีการกำหนดขั้นต่ำของบัญชีเงินเดือนสายผู้สอนของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

2. ระยะปานกลาง ให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งการดำเนินการ ดังนี้

2.1 ปรับระบบบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เหมาะสมและเกิดความรอบคอบ รวมทั้งมีการจัดระบบบริหารจัดการรองรับในช่วงเปลี่ยนผ่านให้แล้วเสร็จ อาทิ การออกกฎระเบียบรองรับ ตลอดจนสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบโครงสร้างดังกล่าวให้กับข้าราชการทราบโดยทั่วกัน

2.2 ดำเนินการตามแนวทางการจัดอัตรากำลังการบริหารจัดการในภารกิจการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 เพื่อจัดการเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพการศึกษาและการบริหารอัตรากำลัง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างครอบคลุม และมีการกระจายและใช้ทรัพยากรทางการศึกษาให้คุ้มค่า เป็นธรรม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ต้องให้ความสำคัญต่อการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งดูแลนักเรียนน้อยกว่าแต่ใช้งบประมาณในจำนวนพอ ๆ กับกลุ่มโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ซึ่งรับผิดชอบนักเรียนมากกว่า (รวมกว่า 7 ล้านคน) รวมถึงการกระจายอาจการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับส่วนท้องถิ่นต่อไปด้วย

3. ระยะยาว ให้มีการศึกษาค่าตอบแทนของข้าราชการทุกประเภททั้งระบบ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาภาพรวมของข้าราชการในกลุ่มสายผู้สอนให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับระบบการศึกษาและยุทธศาสตร์การศึกษาของประเทศเทียบเคียงกับระบบสากลได้ รวมทั้งคำนึงถึงผลิตภาพและผลสัมฤทธิ์ของระบบการเรียนการสอนของประเทศ โครงสร้างและขนาดของหน่วยงาน (ขนาดของโรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา) ลักษณะงานของตำแหน่งและขอบข่ายของงาน อุปสงค์และอุปทาน่ของผู้ดำรงตำแหน่งเทียบกับตำแหน่งงานตลอดจนมิติหรือปัจจัยอื่น นอกเหนือจากมิติของวิทยฐานะแต่เพียงอย่างเดียว

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

1.1 กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนด และให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่มีใบอนุญาต ตำแหน่งผู้บริหารในหน่วยงานการศึกษาที่สอนระดับปริญญาตรีได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาโดยอนุโลม (ร่างมาตรา 3)

1.2 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับเงินวิทยฐานะในตำแหน่งประเภทใด ให้เงินวิทยฐานะติดตามตัวไปสำหรับตำแหน่งประเภทนั้น ตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด และเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่ง ไม่ถือเป็นเงินเดือน (ร่างมาตรา 3)

1.3 กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการปรับเงินเดือนขั้นต่ำ ขั้นสูง เงินวิทยฐานะ หรือเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ร่างมาตรา 4)

1.4 กำหนดบทเฉพาะกาลการให้ได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนขั้นเงินเดือนใหม่ (ร่างมาตรา 6)

2. การปรับระบบบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

2.1 การเทียบเคียงตำแหน่ง

2.1.1 ตำแหน่งวิชาการ (ตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และอาจารย์) ซึ่งจำแนกตามระบบวิทยฐานะ จึงมีความแตกต่าง จากข้าราชการพลเรือนสามัญ การเทียบเคียงกับตำแหน่งประเภทวิชาการที่ ก.พ.กำหนด เพื่อการกำหนดช่วงเงินเดือนและอัตราเงินประจำตำแหน่งที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ

2.1.2 ตำแหน่งประเภทผู้บริหาร

(1) ตำแหน่งประเภทผู้บริหารที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งการดำรงตำแหน่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งโดยไม่มีเงินเดือนประจำสำหรับผู้ดำรงตำแหน่ง จึงมิได้มีการเทียบเคียงกับตำแหน่งประเภทบริหารของข้าราชการพลเรือนสามัญและมิได้มีการปรับปรุงอัตราเงินประจำตำแหน่ง

(2) ตำแหน่งประเภทผู้บริหารที่ไม่มีวาระดำรงตำแหน่งซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานทั่วไปในหน่วยงานที่แบ่งส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา เทียบเคียงกับตำแหน่งประเภทอำนวยการที่ ก.พ.กำหนด

2.1.3 ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะเทียบเคียงกับตำแหน่งประเภทวิชาการตามที่ ก.พ.กำหนด

2.1.4 ตำแหน่งประเภททั่วไป เทียบเคียงกับตำแหน่งประเภททั่วไป ตามที่ ก.พ.กำหนด

2.2 ร่างพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.2.1 กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2552 (ร่างมาตรา 2)

2.2.2 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาอาจได้รับเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนด เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารตามที่กำหนดให้ได้รับตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2538 (ร่างมาตรา 3)

2.2.3 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ดำรงตำแหน่งประเภทใดสายงานใด ระดับใด ได้รับเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 4)

2.2.4 กำหนดให้ตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ได้รับเงินประจำตำแหน่งวิชาการตามอัตราที่กำหนด (ร่างมาตรา 5)

2.2.5 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราสำหรับตำแหน่งนั้น หรือตำแหน่งและระดับของตำแหน่งนั้น ดังนี้

(1) ตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ได้รับเงินประจำตำแหน่งวิชาการ

(2) ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ (วช.) ระดับชำนาญการขึ้นไป ซึ่งมีลักษณะงานตามที่กำหนดได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพ (วช.)

(3) ตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ (ชช.) ระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป ซึ่งมีลักษณะงานตามที่กำหนดได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ (ชช.)

(4) ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต ผู้อำนวยการกอง หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากองตามที่ ก.พ.อ.กำหนด ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ซึ่งมีลักษณะงานตามที่กำหนด ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราสำหรับตำแหน่งนั้น หรือตำแหน่งและระดับนั้นของตำแหน่ง (ร่างมาตรา 5 ร่างมาตรา 6 ร่างมาตรา 7 ร่างมาตรา 8 และร่างมาตรา 9)

2.2.6 กำหนดให้การกำหนดตำแหน่งประเภทใด สายงานใด ระดับใด จะให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มขึ้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาก่อน (ร่างมาตรา 10)

2.3 ร่าง ก.พ.อ.ว่าด้วยการกำหนดบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ....

2.3.1 กำหนดให้กฎ ก.พ.อ.นี้ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2552 (ร่างข้อ 1)

2.3.2 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งและประเภทที่กำหนดไว้ในบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงในกฎ ก.พ.อ. นี้ (ร่างข้อ 2)

2.3.3 การให้ผู้ดำรงตำแหน่งใด ประเภทใด ระดับใด จะได้รับเงินเดือนเท่าใดตามบัญชี ขั้นต่ำขั้นสูง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในบัญชีอัตราเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงท้ายกฎ ก.พ.อ. นี้ (ร่าง 3)

2.4 ร่างกฎ ก.พ.อ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือน พ.ศ. ....

2.4.1 กำหนดให้กฎ ก.พ.อ.นี้ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2552 (ร่างข้อ 1)

2.4.2 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ประเภทใด สายงานใด ระดับใด ให้ได้รับเงินเดือนตามตำแหน่ง ประเภท สายงาน และระดับนั้น ในขั้นต่ำของระดับเงินเดือน สำหรับตำแหน่ง ประเภท สายงาน และระดับที่ได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่บุคคลผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดให้ได้รับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.อ.กำหนด (ร่างข้อ 2)

2.4.3 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการตำแหน่งศาสตราจารย์ ตำแหน่งประเภททั่วไประดับชำนาญงานพิเศษและตำแหน่ง ประเภท สายงาน และระดับอื่นที่ ก.พ.อ. กำหนด ให้ได้รับเงินเดือนตามที่กำหนด และในกรณีที่ได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งอยู่เดิม ให้ได้รับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.อ.กำหนด (ร่างข้อ 3 และร่างข้อ 4)

2.5 การขอคงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้แก่ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งแตกต่างจากโครงสร้างตำแหน่งที่ ก.พ.อ.กำหนดจนกว่าจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างตำแหน่งที่ ก.พ.อ.กำหนดซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม

2.5.1 ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานการเงินและบัญชีที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการกอง ซึ่งแบ่งส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาขอคงสิทธิประโยชน์เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง

2.5.2 ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพด้านการสอนขอคงสิทธิประโยชน์เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง

2.5.3 ตำแหน่งข้าราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ 3 ขอคงสิทธิประโยชน์เงินเดือนและ เงินประจำตำแหน่ง

2.5.4 ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

(1)ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา คศ.3 และตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานศึกษา คศ.2 ขอคงสิทธิประโยชน์เงินเดือนและเงินวิทยฐานะที่ได้รับอยู่เดิม

(2) ครูรับเงินเดือน คศ.2 คศ.3 และคศ.4 ขอคงสิทธิประโยชน์เงินเดือนและเงินวิทยฐานะที่ได้รับอยู่เดิม หรือเงินวิทยฐานะตามวิทยฐานะของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ เนื่องจากเป็นกรณีที่มีข้อจำกัดเรื่องโอกาสความก้าวหน้าตามระบบบริหารงานบุคคลใหม่ และจำเป็นต้องกำหนดให้มีโอกาสความก้าวหน้าตามระบบบริหารงานบุคคลเดิม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยหลอมรวมจากสถานศึกษาที่มีอยู่เดิมและ มีการจัดการเรียนการสอนแตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ