เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การนำร่องและอัตราค่าจ้างนำร่องในเขตท่าเรือศรีราชา เขตท่าเรือจังหวัดสงขลา
และเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การนำร่องและอัตราค่าจ้างนำร่องในเขตท่าเรือศรีราชา เขตท่าเรือจังหวัดสงขลา และเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีชุดก่อนได้มีมติอนุมัติหลักการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2517)ฯ , ฉบับที่ 52 (พ.ศ. 2531)ฯ ,ฉบับที่ 59 (พ.ศ. 2535) และฉบับที่ 72 (พ.ศ. 2545) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) (ร่างข้อ 1)
2. กำหนดให้เขตท่าเรือศรีราชา เขตท่าเรือจังหวัดสงขลา และเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นเขตที่ต้องเดินเรือโดยมีผู้นำร่อง (ร่างข้อ 2)
3. กำหนดให้เรือที่เคลื่อนเดินหรือเข้าออกในเขตท่าเรือ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ต้องใช้ผู้นำร่องของรัฐบาล เว้นแต่เรือบางประเภท เช่น เรือของรัฐบาลไทย เรือของรัฐบาลต่างประเทศ เรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำต่ำว่า 165 ฟุต (50.29 เมตร) เรือที่ชักธงไทยประเภทบรรทุกสินค้าล้อเลื่อนที่มีนายเรือสัญชาติไทยเป็นผู้ควบคุมเรือเดินเป็นการประจำระหว่างท่าเรือภายในราชอาณาจักร และเรือที่ชักธงไทยที่มีนายเรือสัญชาติไทยและมีขนาดความยาวตลอดลำไม่เกิน 450 ฟุต (137.20 เมตร) เป็นต้น (ร่างข้อ 3)
4. กำหนดจำนวนผู้นำร่องที่จะอนุญาตให้ทำการนำร่องและผู้ฝึกสอนการนำร่องของรัฐบาล ดังนี้ เขตท่าเรือศรีราชา ให้มีผู้นำร่องที่จะอนุญาตให้ทำการนำร่องได้ไม่เกินสามสิบคน และมีผู้ฝึกการนำร่องของรัฐบาลได้ไม่เกินสิบคน เขตท่าเรือจังหวัดสงขลา ให้มีผู้นำร่องที่จะอนุญาตให้ทำการนำร่องได้ไม่เกินสิบคน และมีผู้ฝึกการนำร่องของรัฐบาล ได้ไม่เกินสามคน เขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้มีผู้นำร่องที่จะอนุญาตให้ทำการนำร่องได้ไม่เกินสิบสองคน และมีผู้ฝึกการนำร่องของรัฐบาลได้ไม่เกินหกคน (ร่างข้อ 4)
5. กำหนดอัตราค่าจ้างนำร่องเมื่อใช้ผู้นำร่องทั้งขาเข้าและขาออกแม้ว่าจะใช้ผู้นำร่องเพียงขาเดียวในเขตท่าเรือจังหวัดสงขลาหรือเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดตามขนาดของเรือและอัตราที่กำหนด (ร่างข้อ 5)
6. กำหนดให้เรือที่เข้ามาจอดเทียบท่าเรือหรือเข้ามาผูกทุ่นในเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ต้องเสียค่าจ้างนำร่องเข้าจอดเทียบท่าเรือหรือเข้าผูกทุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละสิบของอัตราค่าจ้างนำร่อง (ร่างข้อ 6)
7. กำหนดให้การเลื่อนที่จอดเรือภายในเขตท่าเรือศรีราชาต้องเสียค่าจ้างนำร่องตามขนาดของเรือและ ในอัตราที่กำหนด สำหรับเขตท่าเรือจังหวัดสงขลา และเขตท่าเรืออุตสาหกรมมาบตาพุด ต้องเสียค่าจ้างนำร่องในอัตรา ร้อยละสามสิบของอัตราค่าจ้างนำร่องที่กำหนดไว้ในข้อ 5 และเฉพาะเขตท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดให้การเลื่อนเรือเข้าจอดเทียบท่าเรือหรือเข้าผูกทุ่น ต้องเสียค่าจ้างนำร่องในอัตราร้อยละสี่สิบ (ร่างข้อ 7)
8. กำหนดให้เรือที่ใช้ผู้นำร่องทำการนำร่องเรือเข้าหรือออกหรือเลื่อนที่จอดเรือนอกเวลาราชการหรือใน วันหยุดราชการ ต้องเสียค่าจ้างนำร่องล่วงเวลาเพิ่มขึ้น ดังนี้ ในเขตท่าเรือศรีราชาให้เสียค่าจ้างในอัตราหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างนำร่อง ในเขตท่าเรือจังหวัดสงขลาให้เสียค่าจ้างในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราค่าจ้างนำร่อง (ร่างข้อ 8)
9. เงินค่าจ้างนำร่องที่เก็บได้ทั้งหมดตามกฎกระทรวงนี้ ให้แบ่งจ่ายให้แก่ผู้นำร่อง โดยให้ผู้นำร่องได้รับเงินค่าจ้างนำร่องล่วงเวลาทั้งหมด และให้รวมกับอีกร้อยละสิบสองของค่าจ้างนำร่องตามพิกัดค่าจ้างนำร่องทั้งหมด ทั้งนี้ ต้องไม่เกินปีละสี่ล้านแปดแสนบาทในแต่ละเขตท่าเรือ ส่วนที่เหลือให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ (ร่างข้อ 9)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--