การปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 14:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวงปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จากอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน โดยไม่กำหนดอัตราขั้นสูง และให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงมหาดไทย (มท.) รายงานว่า

1. การจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้กำหนดไว้สอดคล้องตามที่ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ โดยมีหลักเกณฑ์ให้ได้รับค่าทดแทน ดังนี้

1.1 ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกินสามวัน แต่ไม่เกิน 1 ปี

1.2 ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย โดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสีย แต่ไม่เกินสิบปี

1.3 ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานทุพพลภาพไม่เกินสิบห้าปี

1.4 ร้อยละหกสิบของเงินเดือน สำหรับกรณีที่พนักงานถึงแก่ความตายมีกำหนดแปดปี

ในกรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ค่าทดแทนดังกล่าว ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละสองพันบาท และไม่เกินเดือนละเก้าพันบาท

2. กฟน.ได้ขอปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน หลักเกณฑ์ที่กำหนด จากอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือนแต่ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน โดยไม่กำหนดอัตราขั้นสูง เช่นเดียวกันกับอัตราการจ่ายทดแทนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะการปฏิบัติงานเหมือนกัน ดังนั้น การจ่ายควรเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์อื่น ๆ ให้ได้รับค่าทดแทนเหมือนเดิม

3. คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงให้ความเห็นชอบตามที่ กฟน.เสนอและได้เสนอคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พิจารณา ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2553 โดยมีมติเห็นชอบให้ กฟน. ปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนกรณีพนักงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จากอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือนแต่ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นอัตราร้อยละหกสิบของเงินเดือน โดยไม่กำหนดอัตราขั้นสูง และให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ มติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมีข้อสังเกตว่าค่าทดแทนดังกล่าวควรเป็นอัตราเดียวกันกับภาคเอกชน การไม่มีการกำหนดอัตราขั้นสูงของเงินทดแทนดังกล่าวไว้จะมีผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่ไม่มีความสามารถในการจ่ายทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในรัฐวิสาหกิจด้วยกัน และปัจจุบันได้มีการเสนอแก้ไขร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทนดังกล่าว โดยปรับอัตราค่าทดแทนจากไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นไม่เกินเดือนละ 12,000 บาท จึงมีความเห็นว่าควรให้ กฟน. คงใช้หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวตามประกาศฯ เดิมไปก่อน

กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า กฟน.เป็นกิจการสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกับ กฟน.และ กฟภ. ซึ่งมีลักษณะการปฏิบัติงานเหมือนกัน ตามหลักการกิจการลักษณะเดียวกัน จึงควรกำหนดอัตราการจ่ายค่าทดแทนหลักเกณฑ์เช่นเดียวกัน ซึ่งการปรับอัตราการจ่ายค่าทดแทนดังกล่าว ทำให้ กฟน.มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.17 ล้านบาท ไม่มีผลกระทบต่อสถานะการเงิน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ