คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบงบประมาณทำการประจำปีงบประมาณ 2554 ในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ ประมาณ 72,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 5 โดยสามารถจัดหาเงินสดเพื่อใช้ลงทุนได้ประมาณ 223,391 ล้านบาท และรับทราบแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2555 — 2557 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่าผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิรวม 274,782 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 91,594 ล้านบาท และการเบิกจ่ายลงทุนรวม 928,209 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 309,403 ล้านบาท
2. เห็นชอบ กรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2554 วงเงินดำเนินการ จำนวน 554,994 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 322,612 ล้านบาท ประกอบด้วย
2.1 การลงทุนโครงการต่อเนื่องที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการแล้วและงานตามภารกิจปกติ วงเงินดำเนินการ จำนวน 517,235 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 289,007 ล้านบาท
2.2 การลงทุนที่ต้องรอขออนุมัติตามขั้นตอน (โครงการลงทุนที่รออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบลงทุนระหว่างปี) วงเงินดำเนินการ จำนวน 37,759 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 33,604 ล้านบาท โดยมอบให้ สศช. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบลงทุนระหว่างปีดังกล่าว
สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เห็นควรให้ดำเนินการได้ เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ ให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนตามเป้าหมายร้อยละ 90 ของวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน
2.3 ให้กระทรวงเจ้าสังกัดรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวง และระดับองค์กรไปพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนในปีงบประมาณ 2554 ให้ สศช. ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด และให้รายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะข้างต้นและความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง
2.4 เห็นชอบในหลักการให้ สศช. ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2554 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 และการอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรี
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553 พิจารณากรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2554 ซึ่งกระทรวงเจ้าสังกัดได้เห็นชอบและจัดส่งให้ สศช. โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีรายละเอียดดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2553 จากการประมวลผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2553 ของรัฐวิสาหกิจในภาพรวม คาดว่าจะมีผลประกอบการและการลงทุนในภาพรวมดังนี้
1.1 งบประมาณทำการ คาดว่าจะมีรายได้รวม จำนวน 1,425,532 ล้านบาท รายจ่ายรวม จำนวน 1,356,796 และกำไรสุทธิประมาณ 68,736 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย (61,665 ล้านบาท) ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นจำนวน 7,071 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.5
1.2 งบประมาณลงทุน รัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) คาดว่าจะเบิกจ่ายลงทุนได้ประมาณ 163,119 ล้านบาท หรือร้อยละ 87.6 ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน (186,295 ล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน และเมื่อรวมผลการเบิกจ่ายลงทุนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 65,529 ล้านบาท ส่งผลให้ประมาณการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี งบประมาณ 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 228,648 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.8 ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน (251,824 ล้านบาท)
2. ข้อเสนองบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2554 รัฐวิสาหกิจ จำนวน 54 แห่ง ภายใต้สังกัด 16 กระทรวง ได้ส่งงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2554 ให้สำนักงานฯ พิจารณา ทั้งนี้ ในส่วนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดส่งข้อมูลมาเพื่อทราบ โดยเป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบด้วย
2.1 งบประมาณทำการ ประมาณว่าจะมีรายได้รวม จำนวน 1,478,037 ล้านบาท รายจ่ายรวม จำนวน 1,405,597 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 72,440 ล้านบาท รวมทั้งคาดว่าจะสามารถจัดหาเงินสดเพื่อใช้ในการลงทุน (Retained Income: RI) ได้เป็นจำนวน 263,229 ล้านบาท
2.2 งบประมาณลงทุน วงเงินดำเนินการ จำนวน 413,789 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 262,361 ล้านบาท (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) โดยวงเงินเบิกจ่ายลงทุนจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วย งบลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติ จำนวน 101,981 ล้านบาท และงบลงทุนที่ทำเป็นโครงการ จำนวน 160,380 ล้านบาท
2.3 แนวโน้มการดำเนินงานปี 2555 - 2557 ประมาณว่าจะมีรายได้รวม จำนวน 5,052,989 ล้านบาท รายจ่ายรวม จำนวน 4,778,206 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 274,782 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 91,594 ล้านบาท) รวมทั้งคาดว่าจะเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 928,209 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 309,403 ล้านบาท)
3. ผลการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอกรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2554 คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณางบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และเชิญผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดเข้าร่วมพิจารณา โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติ ดังนี้
3.1 งบประมาณทำการ รับทราบงบประมาณทำการประจำปีงบประมาณ 2554 ในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ จำนวน 72,096 ล้านบาท และมีเงินสดเพื่อใช้ในการลงทุน จำนวน 223,391 ล้านบาท
3.2 งบประมาณลงทุน เห็นชอบกรอบงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2554 วงเงินดำเนินการ จำนวน 554,994 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 322,612 ล้านบาท ประกอบด้วย
3.2.1 การลงทุนโครงการต่อเนื่องที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการแล้วและงานตามภารกิจปกติ วงเงินดำเนินการ จำนวน 517,235 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 289,007 ล้านบาท
3.2.2 การลงทุนที่ต้องรอขออนุมัติตามขั้นตอน (โครงการลงทุนที่รออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบลงทุนระหว่างปี) วงเงินดำเนินการ จำนวน 37,759 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 33,604 ล้านบาท โดยเห็นควรขออนุมัติคณะรัฐมนตรีมอบให้ สศช. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบลงทุนระหว่างปีดังกล่าว
ส่วนโครงการที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เห็นควรให้ดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ ให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนตามเป้าหมายร้อยละ 90 ของวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน
3.3 แนวโน้มการดำเนินงานปี 2555 — 2557 รับทราบแนวโน้มการดำเนินงานในช่วง 3 ปี ข้างหน้าของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่าผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิรวม จำนวน 274,782 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 91,594 ล้านบาท โดยเป็นการประมาณบนสมมติฐานผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2553 และปีงบประมาณ 2554 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจและภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สำหรับการลงทุนคาดว่าจะเบิกจ่ายลงทุนรวม จำนวน 928,209 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 309,403 ล้านบาท เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการให้บริการ ลดต้นทุนโลจิสติกส์และการใช้พลังงานของประเทศ กระจายบริการขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร รวมทั้งขยายงานตามภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการพัฒนาประเทศ
3.4 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
3.4.1 การจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐวิสาหกิจ
เห็นควรให้ สศช. จัดทำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐวิสาหกิจในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 — 2559)
3.4.2 การกำกับดูแลและให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายลงทุน
ให้กระทรวงเจ้าสังกัดและคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ กำกับดูแลการเบิกจ่ายลงทุนในปี 2554 เพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน
3.4.3 เร่งทบทวนบทบาทของรัฐวิสาหกิจ
เห็นควรให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเจ้าสังกัดเร่งทบทวนบทบาทและภารกิจของรัฐวิสาหกิจ โดยพิจารณาความจำเป็นในการคงสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือปรับปรุงรูปแบบองค์กร หรือควบรวมรัฐวิสาหกิจที่มีการดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน เช่น
1) รัฐวิสาหกิจที่มีผลกำไรต่ำหรือขาดทุนหรือเป็นกิจการที่เอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บริษัท ไม้อัดไทย จำกัด องค์การสะพานปลา องค์การตลาด องค์การตลาดเพื่อเกษตรก องค์การคลังสินค้า และการเคหะแห่งชาติ เป็นต้น
2) รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการเกี่ยวเนื่องกันในภารกิจหลักหรือภารกิจของกระทรวงและใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก เช่น สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย และการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นต้น
3) รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินงานเชิงสังคม ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก อาจพิจารณาปรับรูปแบบองค์กร เช่น องค์การสวนพฤกษศาสตร์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และสถาบันการบินพลเรือน เป็นต้น
3.4.4 การบริหารจัดการ การกำกับดูแล รัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
เห็นควรให้ กค. เร่งพิจารณาโครงสร้าง รูปแบบและกลไกการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หลักเกณฑ์และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
3.4.5 การเพิ่มบทบาทภาคเอกชน
เห็นควรให้ กค. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักร่วมกับกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการลงทุนและดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มากขึ้น ทั้งนี้ ให้รัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดพิจารณาหาแหล่งเงินกู้เพื่อการดำเนินงานโดยรัฐไม่ต้องเป็นผู้ค้ำประกัน
3.4.6 การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ
เห็นควรให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจ พิจารณาการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับองค์กร รวมทั้งพิจารณาการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ร่วมกัน
3.4.7 การปรับปรุงการดำเนินงาน
ให้กระทรวงและรัฐวิสาหกิจเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงาน การให้บริการ การลดต้นทุนการผลิต การลดรายจ่าย การสร้างรายได้ และการบริหารจัดการที่เหมาะสม ตลอดจนให้ความสำคัญในการจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และนำเสนอขออนุมัติการลงทุนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--