การประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 15:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการรับไปพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำตัวชี้วัดการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของภาครัฐและใช้เป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของแต่ละหน่วยงาน โดยให้ยกเลิกตัวชี้วัดเดิมที่ไม่จำเป็น และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แล้วแจ้งผลให้สำนักงบประมาณทราบเพื่อดำเนินการให้หน่วยงานต่างๆ ถือปฏิบัติและใช้เป็นตัวชี้วัดประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ต่อไป ทั้งนี้ ให้นำความเห็นของ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบในขั้นตอนการดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า

1. สศช. ได้ดำเนินการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจเฉพาะในส่วนของ สศช. ในปีงบประมาณ 2549 เพื่อเป็นตัวอย่างและนำเสนอต่อ ค.ต.ป. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 ซึ่ง ค.ต.ป. ได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของ สศช. และเห็นควรให้ขยายผลในหน่วยงานนำร่อง ในปีงบประมาณ 2550 ต่อไป

2. ในช่วงปีงบประมาณ 2550 — 2553 สศช. ได้มีการขยายผลการประเมินความคุ้มค่าฯ ในหน่วยงาน ภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 — 2551 ขยายผลในกระทรวงนำร่อง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านบริหารความมั่นคงและการต่างประเทศ ตามการแบ่งกลุ่มของสำนักงาน ก.พ.ร. จากนั้นในช่วงปี 2552 — 2553 ได้ขยายการประเมินให้ครบถ้วนทั้ง 20 กระทรวง

3. สาระสำคัญของคู่มือการประเมินความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจภาครัฐ

3.1 วัตถุประสงค์ : มุ่งให้ส่วนราชการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจด้วยตนเอง เพื่อ

(1) ประเมินว่าการปฏิบัติภารกิจมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนและภาครัฐมากหรือน้อยกว่าค่าใช้จ่ายและผลเสียที่เกิดขึ้นเพียงใด

(2) เป็นข้อมูลในการทบทวนจัดลำดับความสำคัญในการเลือกปฏิบัติภารกิจ หรือยุบเลิกภารกิจ หรือปรับปรุงวิธีการปฏิบัติภารกิจให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

(3) เป็นแนวทางการพิจารณาจัดตั้งงบประมาณของส่วนราชการในปีต่อไป

3.2 นิยามและกรอบการประเมินความคุ้มค่าฯ

(1) นิยาม : การประเมินการดำเนินภารกิจของภาครัฐเพื่อให้ได้ผลผลิต ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลประโยชน์ที่สมดุลกับทรัพยากรที่ใช้

(2) กรอบการประเมินความคุ้มค่าฯ : ให้ความสำคัญกับการประเมินการปฏิบัติภารกิจใน 3 มิติได้แก่

1) ประสิทธิผลการปฏิบัติภารกิจ เป็นการประเมินการบรรลุวัตถุประสงค์หรือ เป้าหมายของการปฏิบัติภารกิจ โดยเปรียบเทียบผลที่ได้รับจากการปฏิบัติภารกิจว่ามีความสอดคล้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และผลที่คาดไว้ว่าจะได้รับที่กำหนดไว้ก่อนดำเนินการหรือไม่

2) ประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจ เป็นการประเมินความเหมาะสม สอดคล้องในการใช้ทรัพยากรและกระบวนการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตตามวัตถุประสงค์ โดยพิจารณาจากผลผลิตเทียบกับต้นทุนทั้งหมด การจัดหาทรัพยากรที่ได้มาตรฐาน มีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมทั้งมีกระบวนการทำงานที่ประหยัดทรัพยากร

3) ผลกระทบหมายถึง ผลอันสืบเนื่องจากการปฏิบัติภารกิจทั้งที่คาดหมายหรือ ตั้งใจและไม่ได้คาดหมาย

3.3 ขอบเขตและตัวชี้วัดในการประเมินความคุ้มค่าฯ

(1) ขอบเขตของการประเมินความคุ้มค่าฯ

1) หน่วยของการประเมิน : การประเมินความคุ้มค่าฯ เป็นการประเมินการปฏิบัติภารกิจระดับกรมในการนำส่งผลผลิตหลัก ซึ่งหลักในการประเมินสามารถประยุกต์ได้ ทั้งในระดับกรม กลุ่มภารกิจ หรือกระทรวง

2) ภารกิจที่ต้องประเมิน : ประเมินเฉพาะภารกิจหลัก (Core Business) ของหน่วยงาน โดยหน่วยงานเป็นผู้กำหนดด้วยตนเองว่าภารกิจหลักและผลผลิตหลักของหน่วยงานคืออะไร

(2) ตัวชี้วัดในการประเมินความคุ้มค่า ประกอบด้วย

1) ตัวชี้วัดหลัก : ทุกหน่วยงานแม้ภารกิจจะมีลักษณะแตกต่างกันแต่สามารถใช้ตัวชี้วัดในแต่ละมิติเช่นเดียวกันได้

2) ตัวชี้วัดเสริม : ในกรณีที่ภารกิจของหน่วยงานไม่สามารถประเมินผลประโยชน์เป็นตัวเลขได้ หรือภารกิจที่จัดทำเป็นโครงการหน่วยงานจะต้องใช้ตัวชี้วัดเพิ่มเติม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ