การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 15:21 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2520, 3 กุมภาพันธ์ 2524

และ 1 พฤษภาคม 2527 รวม 3 ฉบับ)

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีรวม 3 ฉบับ ได้แก่ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2520, 3 กุมภาพันธ์ 2524 และ 1 พฤษภาคม 2527

2. เห็นชอบการใช้มาตรการทางการบริหารกำหนดใช้เป็นการทั่วไปให้ส่วนราชการพิจารณากำหนดกฎ/ระเบียบหรือหลักเกณฑ์ภายในให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐถือปฏิบัติอย่างเหมาะสม หากประสงค์จะสมรสหรืออยู่กินกับ ผู้ที่ยังมีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งอาจพิจารณาโยกย้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอื่นที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และผลประโยชน์ของประเทศได้ตามที่เห็นสมควร

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานว่า

1. ในช่วงปี 2520 ประเทศไทยประสบกับปัญหาชาวญวนอพยพซึ่งเป็นบุคคลที่เข้าเมืองโดยไม่ถูกต้องและได้รับการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ ระหว่างนั้น ปรากฏมีข้าราชการฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และอื่น ๆ ได้สมรสกับชาวญวนดังกล่าว ซึ่ง สมช.พิจารณาเห็นว่า น่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง เนื่องจากญวนอพยพมีพฤติการณ์สนับสนุนทางการเมืองต่อประเทศมาตุภูมิ รวมทั้งพยายามให้ได้มาซึ่งการเป็นคนไทยด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยมีข้าราชการ ร่วมมือ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบห้ามข้าราชการสมรสหรืออยู่กินฉันท์สามีภรรยากับผู้อพยพและ ผู้ลี้ภัย ทั้งนี้ โดยเหตุผลเพื่อป้องกันผลกระทบต่อตัวข้าราชการและการถูกคู่สมรสแสวงประโยชน์

2. จากการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ผ่านมา มท.ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีการจดทะเบียนระหว่างข้าราชการหรือพนักงานองค์การของรัฐกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย และการจดทะเบียนระหว่างบุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายกับบุคคลสัญชาติไทยหรือกับบุคคลต่างด้าวด้วยกัน หลักการสำคัญคือ การตรวจสอบหลักฐานคุณสมบัติตามเงื่อนไขการสมรสแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2519 หากครบถ้วนให้รับจดทะเบียนและรายงาน มท.ทราบโดยด่วน เพื่อแจ้งต้นสังกัดทราบและดำเนินการต่อไป

มท.มีความเห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์ผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยเปลี่ยนแปลงไป และปัญหาคนญวนอพยพในประเทศ ซึ่งเป็นบุคคลเป้าหมายหลักตามมติคณะรัฐมนตรีที่ยังไม่ได้รับสัญชาติยังคงเหลืออยู่ไม่มากนัก เนื่องจากได้มีการ แก้ไขกฎหมายสัญชาติ และยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติที่ 337 มีผลให้ผู้ที่เกิดในประเทศไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ ดังกล่าวและตามพระราชบัญญัติสัญชาติได้รับสัญชาติไทย นอกจากนี้ มท.ได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบภายในหลายอย่างให้สอดคล้องแล้ว โดยเฉพาะแนวทางการปฏิบัติกรณีการสมรสระหว่างบุคคลสัญชาติไทยกับบุคคลต่างด้าวหรือระหว่างบุคคลต่างด้าวด้วยกันเองในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ทุกสำนักทะเบียนถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันโดยมิได้อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด มท.จึงไม่ขัดข้องในการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีห้ามข้าราชการและพนักงานองค์การของรัฐสมรสกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย

สืบเนื่องจากสำนักงานสิทธิมนุษยชน สภาทนายความมีหนังสือร้องเรียนว่า มติคณะรัฐมนตรีห้ามข้าราชการและพนักงานองค์การของรัฐสมรสกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ยังคงบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการปิดกั้นสิทธิเบื้องต้นในการก่อตั้งครอบครัวตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องพร้อมกับเรียกร้องขอให้มีการพิจารณาทบทวนซึ่ง มท.เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเสนอโดย สมช. จึงเสนอให้ สมช.พิจารณาการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงแล้วในปัจจุบัน

3. โดยที่กฎหมายและประมวลจริยธรรมดังกล่าวเป็นการเปิดช่องให้รัฐสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ให้ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐถือปฏิบัติอย่างเหมาะสมได้โดยไม่ห้ามการสมรส ทั้งนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติและ ผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น หากข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐประสงค์จะสมรสกับคนต่างด้าวที่มีสถานะเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่สิทธิต่าง ๆ ที่ตามมาจากการสมรส รวมทั้งความผิดฐานหลบหนีเข้าเมือง ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

4. ในการประชุมคณะกรรมการร้อยกรองงานของ สมช.ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ได้พิจารณาเห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์ผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยเปลี่ยนแปลงไป มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวอาจะเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและสิทธิในการสมรสได้ อย่างไรก็ดีโดยที่ประเทศยังคงประสบปัญหาผู้หลบหนี เข้าเมืองจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาลักษณะเช่นเดียวกันกับผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัย ดังนั้น จึงอาจจำเป็นต้องกำหนดมาตรการรองรับเพื่อลดผลกระทบด้านความมั่นคงไว้ด้วย เพื่อป้องกันข้าราชการถูกแสวงหาประโยชน์จากผู้หลบหนีเข้าเมือง โดยคณะรัฐมนตรีอาจพิจารณาใช้มาตรการทางการบริหารกำหนดเป็นการทั่วไป ให้ส่วนราชการกำหนดกฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ภายในให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดถือปฏิบัติอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ อาจนำระเบียบข้อบังคับของกระทรวงการต่างประเทศกรณีข้าราชการสมรสกับบุคคลต่างด้าว ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2540 มาพิจารณาปรับใช้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นควรให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรวม 3 ฉบับ ที่ห้ามข้าราชการและพนักงานองค์การของรัฐสมรสกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย รวมทั้งเห็นควรมีมาตรการป้องกันผลกระทบด้านความมั่นคงรองรับการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีอย่างเหมาะสมด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ