การประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 15:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเสนอ ดังนี้

1. รับทราบ

1.1 รายงานผลการตรวจติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 รอบที่ 2 (ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553) ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

1.2 รายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ณ วันที่ 16 กันยายน 2553

1.3 การกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยให้กรมบัญชีกลางปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบด้านการเกษตร โดยให้ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

2. อนุมัติงบประมาณที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอขอรับการสนับสนุนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง จำนวน 1,439.4835 ล้านบาท จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และให้สำนักงบประมาณขอทำความตกลงกันเงินกับกรมบัญชีกลางไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีตามจำนวนดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งได้ต่อไป

ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ

คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 โดยมีผลการประชุมสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ที่ประชุมรับทราบ

1.1 รายงานผลการตรวจติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 รอบที่ 2 (ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553) ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีในรายงานดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

1.2 รายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ณ วันที่ 16 กันยายน 2553 ดังนี้

1) พื้นที่ประสบอุทกภัย 25 จังหวัด 93 อำเภอ 401 ตำบล 2,573 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พะเยา พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ มุกดาหาร สระบุรี นครนายก ลพบุรี ชัยภูมิ อุดรธานี สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี

2) สถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก สระบุรี นครนายก ลพบุรี ชัยภูมิ

3) การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ

(1) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตต่าง ๆ จัดส่งรถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกติดปั้นจั่น รถส่องสว่าง รถกู้ภัยขนาดเล็ก เรือท้องแบน และกำลังพลสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

(2) กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,200 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 582 เครื่อง ในพื้นที่ 52 จังหวัด

(3) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ได้สนับสนุนกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์เข้าไปให้ความช่วยเหลืออีกหน่วยงานหนึ่งด้วย

2. การพิจารณาคำของบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผนงาน/โครงการในการช่วยเหลือและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีงบประมณ พ.ศ. 2553 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการและงบประมาณการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยแล้ง ได้มีการประชุมพิจารณากลั่นกรองแผนงาน/โครงการ ที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอขอรับการสนับสนุน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553 และครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 โดยมีหน่วยงานเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2553 จำนวนทั้งสิ้น 5,949.8215 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 1,439.4835 ล้านบาท

3. หลักเกณฑ์การเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 คณะกรรมการฯ เห็นควรยึดหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เดิม โดยเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาดำเนินการโครงการ/กิจกรรม ว่าควรดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หลังจากได้รับจัดสรรงบประมาณ เพื่อความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และเป็นการเร่งรัดการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นไปด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

อนึ่ง คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553 มีมติเห็นชอบให้มีการปรับระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยเฉพาะความเสียหายด้านการเกษตร ตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งกำหนดให้การดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและอุทกภัย ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน (3 เดือน) นับแต่วันที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เนื่องจากความเสียหายในบางพื้นที่ บางกรณีจะปรากฏชัดต้องใช้ระยะเวลาเกิน 90 วัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นชอบให้กรมบัญชีกลางปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบด้านการเกษตร โดยให้ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ