ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 15:42 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย

อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 และการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7 ของแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) และมอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมดังกล่าว โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) หัวหน้าคณะผู้แทนไทยรายงานผลการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย สรุปได้ดังนี้

1. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ฯ) ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับรัฐมนตรีและปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 17 ในวันที่ 5 สิงหาคม 2553 โดยรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายปรเมธี วิมลศิริ) ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 ในวันที่ 3-4 สิงหาคม 2553 และรองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ (นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ) ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7 ในวันที่ 4 สิงหาคม 2553

2. ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 17 มีดังนี้

2.1 ผู้เข้าประชุม ประธานการประชุมและหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้แก่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ฯ) หัวหน้าคณะผู้แทนอินโดนีเซีย ได้แก่ ดร.ราลดี คูสตูร์ (ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรี IMT-GT อินโดนีเซีย) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะพันธมิตรการพัฒนาของ IMT-GT ได้แก่ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEC) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

2.2 เห็นชอบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 ซึ่งได้ติดตามการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่

2.2.1 การทบทวนกลางรอบแผนที่นำทางปี 2550-2554 ซึ่งได้เสนอการปรับยุทธศาสตร์ความร่วมมือรายสาขา และได้คัดเลือก จัดลำดับความสำคัญและแผนการดำเนินโครงการใน 6 สาขาความร่วมมือ (โครงสร้างพื้นฐาน การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเกษตรอุตสาหกรรมการเกษตร และสิ่งแวดล้อม) ที่จะดำเนินการในปี 2553-2554 จำนวน 12 แผนงาน (Flagship Programmes) พร้อมทั้งโครงการสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเร่งรัดการเชื่อมโยงแนวพื้นที่เศรษฐกิจ IMT-GT จำนวน 10 โครงการ โดยมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือไทยด้านฝั่งทะเลอันดามัน และโครงการพัฒนาทางพิเศษสะเดา-หาดใหญ่ รวมทั้งการปรับปรุงเสริมสร้างกระบวนการและองค์กรในกรอบ IMT-GT ซึ่ง ADB และ IMT-GT Eminent Persons ได้ยกร่างขึ้น

2.2.2 การเตรียมการร่วมกับ ADB เพื่อจัดทำกรอบทิศทางการดำเนินงาน (Blueprint) ปี 2555-2559

2.2.3 การเตรียมพิจารณาดำเนินการในรายละเอียดของการปรับปรุงเสริมสร้างกระบวนการและองค์กรในกรอบ IMT-GT ในช่วงการประชุม IMT-GT Post Summit Meeting

2.2.4 การติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตาม IMT-GT Action Plan Matrix

2.2.5 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GTและญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรการพัฒนา ครั้งที่ 2 โดยได้ตกลงที่จะเตรียมยกร่างกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและรายชื่อโครงการความร่วมมือที่มีศักยภาพที่จะเกิดความร่วมมือระหว่างกัน

2.2.6 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT และสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและ เอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA) ครั้งที่ 1 ซึ่ง ERIA ได้สนับสนุนการจัดงานสัมมนาด้านพลังงานทดแทนโดยใช้ไบโอดีเซล ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2553 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ทั้งนี้ ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมดังนี้

1) ให้ความสำคัญระดับสูงกับประเด็นความร่วมมือระหว่าง IMT-GTและญี่ปุ่น ในด้านความมั่นคงด้านอาหารและการเกษตรที่มีมูลค่าสูง โดยมาเลเซียเสนอเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาและนิทรรศการด้านดังกล่าวในกรอบ IMT-GT/BIMP EAGA (Brunei Darussalam-Indonesia-Malaysia-Philippines East ASEAN Growth Area) และจะเร่งจัดทำกรอบความร่วมมือระหว่าง IMT-GT และญี่ปุ่นในภาพรวมให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2554

2) รับทราบตามที่มาเลเซียเสนอจัดการประชุมกลุ่มภารกิจด้าน CIQ ครั้งที่ 1 ภายในปลายปี 2553 และตามที่มาเลเซียเสนอให้ยกร่างบันทึกความเข้าใจ (MoU) และขั้นตอนการปฏิบัติตามมาตรฐาน (Standard Operating Procedures : SOPs) ด้าน CIQ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2553-2554 โดยขอรับความสนับสนุนทางวิชาการจาก ADB โดยใช้รูปแบบของกรอบ BIMP EAGA

3) รับทราบการตอบรับการให้การสนับสนุนจาก ADB ด้านแหล่งทุนและวิชาการต่อโครงการที่จะดำเนินการในช่วงปี 2555-2559 และกองทุน Subregional Project Development Fund : SPDF โดย ADB จำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

4) รับทราบความเห็นของ ASEC ต่อโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนา CIQ และอื่นๆ ในกรอบการทบทวนกลางรอบพร้อมทั้งโครงการเชื่อมโยงแนวพื้นที่เศรษฐกิจในกรอบ IMT-GT ว่าจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตามวิสัยทัศน์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 และเป็นโอกาสในการเปิดกว้างสู่ตลาดและการบูรณาการระบบเศรษฐกิจภูมิภาค

3. ผลการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7

3.1 เห็นชอบผลการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7 ซึ่งได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการที่สำคัญใน 9 โครงการ ได้แก่ 3.1.1 โครงการเชื่อมโยงแนวพื้นที่เศรษฐกิจ IMT-GT 3.1.2 การพัฒนาโครงข่ายการค้าชายฝั่ง IMT-GT 3.1.3 การพัฒนาธุรกิจที่บูเก๊ะตา จังหวัดนราธิวาส บูกิตบุหงา รัฐกลันตัน 3.1.4 การจัดตั้ง IMT-GT Plaza เพิ่มเติมที่พอร์ทกลางและมะละกา 3.1.5 การปรับลดกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนบริเวณชายแดน โดยสามประเทศร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้าน CIQ 3.1.6 การจัดทำคู่มือธุรกิจ IMT-GT 3.1.7 การจัดงานแสดงสินค้า (Trade Fair) ที่หาดใหญ่ เมดาน ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ด่านนอก/สะเดา ปัตตานี 3.1.8 การพัฒนาท่าอากาศยานเป็นประตูการค้าที่มะละกา 3.1.9 การเพิ่มการบินเชื่อมโยงในพื้นที่ในเส้นทางภูเก็ต-มะละกา กับประเด็นที่ที่ประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบข้อเสนอจากสภาธุรกิจ IMT-GT ให้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษ (Special Working Committee) ในระดับรัฐ/จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการในพื้นที่กับการจัดตั้งศูนย์ IMT-GT เพื่อสนับสนุนและกลั่นกรองแผนงานในระดับรัฐ/จังหวัด

3.2 รับทราบตามที่อินโดนีเซียเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 18 ที่จังหวัดสุมาตราเหนือ

4. ทั้งนี้ ในช่วงก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 17 ในวันที่ 5 สิงหาคม 2553 ได้มีการหารือเป็นกรณีพิเศษระหว่างรัฐมนตรี IMT-GT ทั้งสามประเทศกับ ERIA เพื่อรับทราบแนวทางความร่วมมือที่มีศักยภาพระหว่าง IMT-GT และ ERIA ในฐานะพันธมิตรการพัฒนา โดยเริ่มด้วยการสนับสนุนด้านวิชาการโดยการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม Symposium on Energy Saving and Biofuel Utilization ระหว่าง ERIA ศูนย์ประสานงานความร่วมมืออนุภูมิภาค IMT-GT (CIMT) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวันที่ 1-2 กันยายน 2553 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เนื่องจาก ERIA เห็นศักยภาพอย่างสูงของสามประเทศ IMT-GT ด้านปาล์มน้ำมัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ