การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเข้าร่วมกับคู่เจรจาด้านบริการเดินอากาศของอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 15:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเข้าร่วมกับคู่เจรจาด้านบริการเดินอากาศของอาเซียนและความตกลงว่าด้วย

การขนส่งทางอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรัฐบาล

แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและมอบหมายตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเข้าร่วมกับคู่เจรจาด้านบริการเดินอากาศของอาเซียน และความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และพิธีสาร 1 แนบท้ายความตกลง และนำเสนอหนังสือสัญญาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้หนังสือสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อไป

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจฯ และความตกลงฯและพิธีสารแนบท้ายฯ ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขหนังสือสัญญาฯ ที่มิใช่สาระสำคัญ ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมาย เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ แทนคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายลงนามในหนังสือสัญญาดังกล่าว

4. เมื่อรัฐสภาเห็นชอบตามข้อ 1 แล้ว มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งภาคีคู่สัญญาทราบเพื่อให้หนังสือสัญญามีผลบังคับใช้ต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงคมนาคมเสนอว่า ด้วยที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งของอาเซียน (ASEAN Senior Transport Officials Meeting : STOM) ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2553 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ได้ให้การรับรองร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเข้าร่วมกับคู่เจรจาด้านการบริการเดินอากาศของอาเซียน และร่างความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และพิธีสาร 1 ว่าด้วยสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 และ 4 อย่างไม่จำกัดระหว่างจุดใดๆ ในภาคีผู้ทำความตกลงต่างๆ และขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามขั้นตอนภายในเพื่อให้สามารถลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ความตกลงฯ และพิธีสารฯ ดังกล่าวได้ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2553 ณ กรุงบันดาร์เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม

1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเข้าร่วมกับคู่เจรจาด้านการบริการเดินอากาศของอาเซียน (Memorandum of Understanding on the Association of Southeast Asian Nations’ Air Services Engagement with Dialogue Partners)

1.1 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรีบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยบริการเดินอากาศ และพิธีสารแนบท้ายความตกลงฯ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการยกระดับการเปิดเสรีสำหรับบริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางอากาศในภูมิภาคอาเซียน

1.2 ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน (ASEAN Transport Ministers Meeting : ATM) ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2552 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่าอาเซียนควรเปิดเสรีการบินภายในภูมิภาคก่อนเปิดเสรีการบินกับคู่เจรจาของอาเซียน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสำคัญของกฎบัตรอาเซียนในการคงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในความสัมพันธ์และความร่วมมือกับคู่เจรจา และได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนพิจารณาเสนอรูปแบบซึ่งสะท้อนความเห็นดังกล่าว พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ STOM และคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศของอาเซียน (ASEAN Air Transport Working Group Meeting: ATWG) พิจารณาข้อเสนอแนะของสำนักเลขาธิการอาเซียนและดำเนินการต่อไป

1.3 ในการประชุม ATWG ครั้งที่ 22 เมื่อเดือนมีนาคม 2553 ณ ประเทศสิงคโปร์ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเข้าร่วมกับคู่เจรจาด้านบริการเดินอากาศของอาเซียน ตามที่สำนักเลขาธิการอาเซียนเสนอ และมีมติให้นำเสนอร่างฉบับสุดท้ายของบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ต่อที่ประชุม STOM พิจารณาให้การรับรอง

1.4 ในการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียนและจีน ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ประชุมได้พิจารณาหาข้อยุติการจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียนและจีน และเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุม STOM-จีน ครั้งที่ 9 พิจารณาให้การรับรอง ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม ATM-จีน ครั้งที่ 9 พิจารณาการลงนาม โดยการประชุม STOM-จีน ครั้งที่ 9 และการประชุม ATM-จีน ครั้งที่ 9 มีกำหนดจัดต่อเนื่องกับการประชุม ATM ครั้งที่ 16 ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม

1.5 ในการประชุม STOM ครั้งที่ 29 เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเข้าร่วมกับคู่เจรจาด้านบริการเดินอากาศของอาเซียน และมีมติเห็นชอบให้นำเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน พิจารณาการลงนามก่อนการลงนามความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียนและจีน โดยให้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อมีการลงนาม

2. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐสมาชิกอาเซียนและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Air Transport Agreement between the Governments of the Member States of the Association of Southeast Asian Nations and the Government of the People’s Republic of China)

2.1 ในปี 2545 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีนได้จัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยรวมระหว่างอาเซียนและจีน และต่อมาในการประชุม ATM-จีน ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 ณ ประเทศสิงคโปร์ ที่ประชุมได้ให้การรับรองกรอบความร่วมมือด้านการบินระหว่างอาเซียนและจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและสินค้า เพื่อเพิ่มพูนการค้าและเศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนและจีนในปี 2553 และได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศของอาเซียนและจีน พิจารณาการจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียนและจีน เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของการบินพลเรือนทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยการเปิดเสรีการบินระหว่างอาเซียนและจีนดังกล่าวจะเป็นการเปิดเสรีโดยลำดับ

2.2 ในการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศของอาเซียนและจีน ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2553 ณ เมืองหังโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ประชุมได้ข้อสรุปการจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียนและจีน และพิธีสาร 1 แนบท้ายความตกลงฯ ว่าด้วยการให้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 และ 4 อย่างไม่จำกัด ระหว่างจุดใดๆ ในประเทศภาคี ซึ่งต่อมาที่ประชุม STOM ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2553 ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ได้เห็นชอบให้นำเสนอร่างความตกลงดังกล่าวต่อที่ประชุม STOM—จีน ครั้งที่ 9 พิจารณาให้การรับรอง ก่อนเสนอต่อที่ประชุม ATM —จีน ครั้งที่ 9 พิจารณาการลงนาม ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม และได้ขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งดำเนินการตามขั้นตอนภายในให้ทันการลงนามตามกำหนด

สาระสำคัญของเรื่อง

1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเข้าร่วมกับคู่เจรจาด้านบริการเดินอากาศของอาเซียน มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 รัฐสมาชิกอาเซียนต้องให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียนก่อนให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศในลักษณะเดียวกันระหว่างอาเซียนและคู่เจรจาของอาเซียน

1.2 รัฐสมาชิกอาเซียนต้องให้สัตยาบันพิธีสารประกอบการดำเนินการของความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียนก่อนให้สัตยาบันพิธีสารประกอบการดำเนินการในลักษณะเดียวกันของความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียนและคู่เจรจาของอาเซียน กล่าวคือ หากรัฐสมาชิกอาเซียนต้องการเป็นภาคีในพิธีสารที่ให้สิทธิรับขนการจราจรประเภทหนึ่งของความตกลงระหว่างอาเซียนและคู่เจรจา รัฐสมาชิกนั้นต้องให้สัตยาบันพิธีสารที่ให้สิทธิรับขนการจราจรประเภทนั้นของความตกลงระหว่างอาเซียนด้วยกันเองก่อน

2. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างรัฐบาลแห่งรัฐสมาชิกอาเซียนและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสาระสำคัญ คือ

2.1 ภาคีแต่ละฝ่ายมีสิทธิกำหนดสายการบินได้มากสายเท่าที่ต้องการ โดยมีคุณสมบัติตามที่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศกำหนด

2.2 สายการบินจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับภายในประเทศสมาชิกที่สายการบินทำการบินเข้าไป ในเรื่องต่างๆ อาทิ พิกัดอัตราค่าขนส่ง ความปลอดภัย กิจกรรมเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

2.3 ความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อสมาชิกประเทศที่ 3 (รวมจีน) ได้มอบเอกสารแจ้งการเข้าเป็นภาคีแก่เลขาธิการอาเซียน โดยจะมีผลบังคับใช้กับประเทศที่มอบเอกสารแจ้งดังกล่าวเท่านั้น

2.4 ให้มีพิธีสาร 1 แนบท้ายความตกลงฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) สายการบินที่กำหนดของรัฐสมาชิกอาเซียนสามารถทำการบินจากจุดใดๆ ที่เป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศในอาณาเขตของตน ไปยังจุดใดๆ ที่เป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศในอาณาเขตของจีนและกลับ ได้อย่างไม่จำกัดจำนวนเที่ยวบินและแบบอากาศยาน

(2) สายการบินที่กำหนดของจีนสามารถทำการบินจากจุดใดๆ ที่เป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศในอาณาเขตของตน ไปยังจุดใดๆ ที่เป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศในอาณาเขตของรัฐสมาชิกอาเซียนและกลับ ได้อย่างไม่จำกัดจำนวนเที่ยวบินและแบบอากาศยาน

(3) พิธีสารฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศที่ 3 (รวมจีน) ได้มอบเอกสารแจ้งการเข้าเป็นภาคี แก่เลขาธิการอาเซียน โดยจะมีผลบังคับใช้กับสมาชิกที่มอบเอกสารแจ้งดังกล่าวเท่านั้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ