ผลการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมความร่วมมือแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 10

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 15:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมความร่วมมือแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 10 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย แต่งตั้งผู้ประสานงาน (focal point) ในคณะทำงานด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) คณะทำงานด้านวิชาการ (กระทรวงศึกษาธิการ) 2) เวทีภาคธุรกิจ (คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน) และ 3) คณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน (กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินความร่วมมือในกรอบ IOR-ARC มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎบัตรสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association for Regional Co-operation หรือ IOR-ARC) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนอนุมัติร่างเอกสารดังกล่าว นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรี (Council of Ministers) สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 10 และ การประชุมที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม — 5 สิงหาคม 2553 ณ กรุงซานา ประเทศเยเมน ในการนี้ สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังกล่าว ดังนี้

1. พิธีเปิดการประชุม

นายกรัฐมนตรีเยเมน ได้กล่าวเปิดการประชุม โดยขอให้ประเทศสมาชิก ร่วมกันพัฒนาและยกระดับความร่วมมือในกรอบ IOR-ARC ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น การสร้างความแข็งแกร่งให้รัฐบาลโซมาเลียในการจัดการปัญหาโจรสลัดในอ่าวเอเดน ทะเลอาหรับและมหาสมุทรอินเดีย

2. ถ้อยแถลงของหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือของ IOR-ARC โดยยึดหลักฉันทามติ การรวมกลุ่มแบบ open regionalism ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ ความร่วมมือต่าง ๆ ควรมุ่งเน้นสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก และสามารถปฏิบัติได้จริง พร้อมกันนี้ได้เสนอให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับความร่วมมือในสาขาการคมนาคมและความมั่นคงทางทะเล การป้องกันและปราบปรามโจรสลัด ความร่วมมือด้านการประมง และการอนุรักษ์ระบบนิเวศวิทยาในทะเลและตามแนวชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. กฎบัตรฉบับแก้ไขของ IOR-ARC และเอกสารภาคผนวก

ที่ประชุมสภารัฐมนตรี IOR-ARC ได้รับรอง (adopt) กฎบัตรฉบับแก้ไขของ IOR-ARC (Charter of IOR-ARC) และเอกสารภาคผนวก 3 ฉบับ ได้แก่ 1) กฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน (Rules of Procedure) 2) ระเบียบปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการ (Staff Regulations for the Secretariat) และ 3) ระเบียบปฏิบัติด้านการเงินของ IOR-ARC (Financial Regulations for IOR-ARC) เอกสารดังกล่าวมีสาระเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กร หลักการและวัตถุประสงค์ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารองค์กร เพื่อปฎิรูปการดำเนินงานให้มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยประเทศสมาชิกเห็นชอบให้คงสถานะของคณะทำงานที่มีอยู่ทั้ง 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะทำงานด้านวิชาการ (IOR Academic Group หรือ IORAG) 2) เวทีภาคธุรกิจ (IOR Business Forum หรือ IORBF) และ 3) คณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน (Working Group on Trade and Investment หรือ WGTI) เป็นกลไกภายใต้ IOR-ARC ต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของไทยที่ให้ตัดข้อบทเรื่อง Rights and Obligations ออกจากกฎบัตรฉบับแก้ไข เนื่องจากเป็นข้อบทที่มักปรากฏในสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และมีการปรับถ้อยคำเพื่อไม่ให้ร่างกฎบัตรมีลักษณะเป็นเอกสารความตกลง ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของไทยที่ต้องการให้กฎบัตรฉบับแก้ไขเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยไม่สร้างเงื่อนไขผูกพันทางกฎหมาย

4. การทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการของ Flagship Projects 3 โครงการ

4.1 Fisheries Support Unit (FSU)

เป็นโครงการความร่วมมือภายใต้คณะทำงานการค้าและการลงทุนมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศโอมาน โดยในการประชุมครั้งนี้โอมานยืนยันที่จะให้การสนับสนุนงบประมาณในส่วนที่เป็น operational budget และหากศูนย์ FSU จะมีการดำเนินโครงการสำคัญในอนาคต โอมานได้ขอให้ประเทศสมาชิกพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ ทั้งนี้ โอมานกำลังดำเนินการตามกฎหมายภายในเพื่อขออนุมัติลงนามใน Headquarters Agreement

4.2 Maritime Transport Council (MTC)

เป็นโครงการความร่วมมือภายใต้เวทีภาคธุรกิจ โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างเอกสารจัดตั้ง Maritime Transport Council (MTC) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการเดินเรือของประเทศสมาชิก ซึ่งครอบคลุมถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านปฏิบัติการการค้นหาและการให้ความช่วยเหลือ (search and rescue) การควบคุมมลพิษทางทะเล การรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล และการอำนวยความสะดวกการบริการโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เป็นต้น ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย

4.3 Regional Centre for Science and Transfer of Technology (RCSTT)

เป็นโครงการความร่วมมือภายใต้คณะทำงานด้านวิชาการ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศอิหร่าน โดยที่ประชุมได้ทบทวนความคืบหน้าในการดำเนินโครงการต่างๆ รวมถึงแผนงานในอนาคต ซึ่งมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยให้ความสำคัญรวมอยู่ด้วย และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นตามความสมัครใจ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นต่อร่างบันทึกความเข้าใจ และ Draft Statute โดยเสนอให้มีการทบทวนร่างบันทึกความเข้าใจทุกๆ 5 ปี พร้อมกันนี้ อิหร่านขอให้ประเทศสมาชิกแต่งตั้งผู้ประสานงานสำหรับ RCSTT เพื่อสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือภายใต้ RCSTT ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

5. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของ IOR-ARC

ผู้อำนวยการบริหารได้รายงานสรุปเกี่ยวกับอุปสรรคสำคัญในการดำเนินโครงการความร่วมมือของ IOR-ARC ได้แก่ 1) การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดโดยประเทศสมาชิกอยู่ในระดับต่ำและไม่เพียงพอที่จะจัดกิจกรรมได้ 2) การติดต่อประสานงานจากสำนักเลขาธิการไปยังประเทศสมาชิกไม่ได้รับการตอบสนองจากประเทศสมาชิกเท่าที่ควร 3) กิจการที่เกี่ยวกับ IOR-ARC นอกเหนือจากการประชุมสภารัฐมนตรี ไม่ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกอย่างเพียงพอ 4) ขาดผู้ประสานงานในสาขาความร่วมมือต่างๆ ในประเทศสมาชิก 5) การเข้าร่วมการประชุมต่างๆ ของประเทศสมาชิกอยู่ในระดับต่ำและไม่ได้เป็นผู้แทนที่เหมาะสมกับการประชุม 6) ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสาขาความร่วมมือต่างๆ ภายใต้ IOR-ARC

ในการนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่จะให้มีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Committee of Senior Officials) เพิ่มเป็น 2 ครั้งต่อปี และในกรณีที่จำเป็นอาจเสนอให้จัดการประชุมสภารัฐมนตรีในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก เพิ่มเติมจากการประชุมสภารัฐมนตรีตามปกติที่จัดขึ้นทุกปี เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินโครงการความร่วมมือได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

6. การพิจารณาข้อเสนอของออสเตรเลีย ที่ประสงค์จะรับตำแหน่งรองประธาน (Vice-Chair) ของ IOR-ARC ในปี 2554

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับข้อเสนอของออสเตรเลียให้ดำรงตำแหน่งรองประธานในปี 2554 ซึ่งอินเดียจะรับตำแหน่งประธานต่อจากเยเมน ทั้งนี้ ออสเตรเลียจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานในปี 2556 เมื่ออินเดียสิ้นสุดวาระการเป็นประธาน

7. การสมัครเป็นผู้สังเกตการณ์ของ IOR-ARC ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ

ที่ประชุมเสนอให้สำนักเลขาธิการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการสมัครเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ฯ ผลกระทบด้านงบประมาณและผลประโยชน์ที่จะได้รับเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของ IOR-ARC ก่อนพิจารณาดำเนินการสมัครเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ต่อไป

8. แถลงการณ์ซานา (Sana’a Communique)

ที่ประชุมสภารัฐมนตรี เห็นชอบต่อแถลงการณ์ซานา (Sana’a Communique) ซึ่งมีลักษณะเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง (Political Statement) เช่นเดียวกับเอกสารผลการประชุมครั้งที่ผ่านมา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ