เรื่อง ขอความเห็นชอบจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่าง FAO กับรัฐบาลไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
FAO COFI Sub-Committee on Aquaculture ครั้งที่ 5
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทยประกอบกับหนังสือแลกเปลี่ยนและบันทึกความรับผิดชอบของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สมัยที่ 5 ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Memorandum of Responsibilities to be Assumed by the Government of the Kingdom of the Thailand and by the Food and Agriculture Organization of the United Nations for the Fifth Session of the Sub — Committee on Aquacalture of the Committee on Fisheries) ก่อนการลงนามโดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
2. มอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ของฝ่ายไทยดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า
1. การประชุม FAO COFI Sub — Committee on Aquacalture เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อพิจารณาประเด็นด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญเสนอต่อคณะกรรมการด้านการประมง (Committee on Fisheries หรือ COFI) ของ FAO ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิก FAO ได้ส่งผู้แทนจากกรมประมงเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยกรมประมงมีบทบาทสำคัญในการแสดงความคิดเห็นและท่าทีเพื่อ ให้เกิดประโยชน์ต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยมาโดยตลอด
2. กษ. โดยกรมประมงเสนอขอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สมัยที่ 5 ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ สมัยที่ 3 ณ สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อเดือนกันยายน 2549 และยืนยันการขอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ สมัยที่ 4 ณ สาธารณรัฐชิลี เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะอนุกรรมการฯ สมัยที่ 5 โดยกำหนดการประชุมระหว่างวันที่ 14 — 18 มิถุนายน 2553 ซึ่งในช่วงระยะเวลานั้นได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอันเนื่องมาจากการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น กรมประมงและ FAO จึงเห็นสมควรเลื่อนการจัดประชุมดังกล่าวออกไปเป็นวันที่ 27 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2553 โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก FAO องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้แทนไทยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน ซึ่ง กษ. ได้รับอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9,012,000 บาท จากสำนักงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ดังกล่าวแล้ว
3. ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวจะต้องมีการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่าง FAO กับรัฐบาลไทย ซึ่ง FAO ได้มีหนังสือถึง กษ. จัดส่งร่างบันทึกความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยและ FAO สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สมัยที่ 5 โดยมีสาระสำคัญคือ หน้าที่ความรับผิดชอบด้านการดำเนินงานจัดประชุมของ FAO และรัฐบาลเจ้าภาพ ซึ่ง FAO ขอให้ประเทศไทยยอมรับหน้าที่ความรับผิดชอบดังกล่าว ทั้งนี้ หนังสือแลกเปลี่ยนฯ ดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือเกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย ซึ่งต้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 4 (7) ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
4. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พิจารณาข้อกฎหมายในการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนฯ แล้ว มีความเห็นดังนี้
4.1 หนังสือแลกเปลี่ยนฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ของทั้งสองฝ่ายจึงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนลงนาม
4.2 กต. มีความเห็นว่า หนังสือแลกเปลี่ยนฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันทางด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
4.3 กต. ไม่มีข้อขัดข้องในประเด็นด้านถ้อยคำและสารัตถะของบันทึกความรับผิดชอบฯ ทั้งนี้ กษ. โดยกรมประมงพิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบัน อีกทั้งในส่วนที่ระบุเกี่ยวกับเอกสิทธิและความคุ้มกันของผู้แทนองค์กรฯ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ. 2504 รองรับอยู่แล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--