การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในด้านการคุ้มครอง และการส่งคืนซึ่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 16:01 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในด้านการคุ้มครอง การอนุรักษ์ การติดตามคืน และการส่งคืนซึ่งทรัพย์สิน

ทางวัฒนธรรม โบราณคดี ศิลปะและประวัติศาสตร์ ที่ถูกปล้น โจรกรรม ส่งออก หรือถ่ายโอนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบว่าบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันวัฒนธรรมแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐเปรู และกรมศิลปากร แห่งราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยความร่วมมือในด้านการคุ้มครอง การอนุรักษ์ การติดตามคืน และการส่งคืนซึ่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรม โบราณคดี ศิลปะและประวัติศาสตร์ ที่ถูกปล้น โจรกรรม ส่งออก หรือถ่ายโอนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

2. อนุมัติการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันวัฒนธรรมแห่งชาติ แห่งสาธารณรัฐเปรู และกรมศิลปากร แห่งราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยความร่วมมือในด้านการคุ้มครอง การอนุรักษ์ การติดตามคืน และการส่งคืนซึ่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรม โบราณคดี ศิลปะและประวัติศาสตร์ ที่ถูกปล้น โจรกรรม ส่งออก หรือถ่ายโอนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้มีอำนาจลงนามในความตกลงฯ ดังกล่าว

3. อนุมัติให้อธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ฝ่ายไทย และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่อธิบดีกรมศิลปากรสำหรับการลงนามดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีความเห็นว่าร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว ไม่มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สรุปได้ดังนี้

1. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นเรื่องความร่วมมือในด้านการคุ้มครอง การอนุรักษ์ การติดตามคืน และการส่งคืนซึ่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรม โบราณคดี ศิลปะ และประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกปล้น โจรกรรม ส่งออก หรือถ่ายโอนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากประเทศไทยและประเทศเปรู ดังนั้น จึงไม่มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

2. กรมศิลปากรสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขพันธกรณีของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ได้ โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา เนื่องจากการดำเนินการตามพันธกรณีในร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมศิลปากรอยู่แล้ว

3. ในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครอง และการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรม กรมศิลปากร มีกฎหมายที่ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภารกิจ ได้แก่ พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำโบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ