ผลการประชุม Symposium on Energy Saving and Biofuel Utilization

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 16:02 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุม Symposium on Energy Saving and Biofuel Utilization ภายใต้แผนงานการพัฒนา

เขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการประชุม Symposium on Energy Saving and Biofuel Utilization ภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ สรุปสาระสำคัญของการประชุม Symposium ดังนี้

1. ความเป็นมา

ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 แผนงาน IMT-GT เมื่อวันที่ 3-5 สิงหาคม 2553 ณ จังหวัดกระบี่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ประธานที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 17 ร่วมกับรัฐมนตรี IMT-GT ได้ร่วมประชุมนัดพิเศษกับ Economic Research Institue for ASEAN and East Asia (ERIA)ซึ่งเป็นพันธมิตรการพัฒนาของ IMT-GT โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านศักยภาพของพื้นที่ IMT-GT ในการเป็นฐานการผลิตด้านไบโอดีเซลของภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง ERIA เสนอที่จะเป็นเจ้าภาพร่วมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวันที่ 1 — 2 กันยายน 2553 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีเลขาธิการอาเซียน (นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ) เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งทุกฝ่ายเห็นชอบ และต่อมาได้มีการประชุมตามกำหนดการเรียบร้อยแล้ว

2. วัตถุประสงค์ในการจัดประชุม

2.1 เพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของที่ประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2550 ที่สิงคโปร์ ที่ได้มอบหมายให้เร่งรัดและเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน โดยการจัด Symposium เพื่อกระตุ้นให้ภาคีการพัฒนาในกรอบ IMT-GT ให้ความสำคัญกับไบโอดีเซลในการเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดและตระหนักถึงศักยภาพ IMT-GT ในการเป็นฐานการผลิตน้ำมันปาล์มรองรับการแปรรูปพลังงานชีวภาพ

2.2 สนับสนุนอาเซียนในบทบาทสำคัญด้านการเป็นผู้นำของโลกในการพลิกฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ การลดมลภาวะต่อโลกจากการใช้น้ำมัน และการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยใช้ศักยภาพของกลุ่มประเทศ IMT-GT ซึ่งจะยกระดับรายได้และมาตรฐานชีวิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่ IMT-GT และ เกิดการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน รวมทั้งเพื่อสร้างดุลยภาพในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานหลายรูปแบบ

3. ข้อสรุปสำคัญจากการประชุม

3.1 ศักยภาพของพื้นที่ แม้มีอุปสรรคในการพัฒนาไบโอดีเซลในด้านต้นทุนการผลิต การควบคุมคุณภาพ ความสามารถในการแข่งขันกับการแปรรูปเป็นอาหาร การประเมินการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งผลด้านลบของไบโอดีเซลเองในด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มีปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ 1) แรงปรารถนาทางการเมืองที่จะปรับสู่การใช้ไบโอดีเซล 2) การนำ Best practice ไปประยุกต์ 3) ผลตอบแทนทางการเงินที่มั่นคง และ 4) การพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร ทั้งนี้โดยต้องไม่เกิดการพึ่งพาพลังงานทดแทนและเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

3.2 โอกาสทางการตลาด ญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญและมีความพร้อมด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีและประสบการณ์ ประสงค์ที่จะให้ความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตไบโอดีเซลเพื่อสร้างความมั่นคงต่ออุปทาน โดย ERIA มีบทบาทนำในด้านการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน การกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านการผลิตและการค้าด้านพลังงานทดแทน ซึ่งเหมาะสมกับพื้นที่ IMT-GT จะสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งตลาดไบโอดีเซลในภูมิภาคเอเชีย โดยใช้มาตรฐานไบโอดีเซลของกลุ่ม EAS-ERIA และแนวปฏิบัติของ ERIA ด้านการพัฒนาพลังงานชีวมวลอย่างยั่งยืนมาปรับเป็นมาตรฐานแนวปฏิบัติของ IMT-GT โดยในอนาคต จะมีการพัฒนามาตรฐานกลางด้านเทคนิค มาตรฐานผลิตภัณฑ์ โครงสร้างพื้นฐานระบบการค้า การคุ้มครองมาตรฐาน และความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ จะได้นำเสนอความก้าวหน้าต่อที่ประชุมสุดยอด ครั้งที่ 5 แผนงาน IMT-GT ในวันที่ 28 ตุลาคม 2553 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ