เรื่อง แนวทางการจัดสรรเงินรางวัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 สำหรับส่วนราชการ จังหวัด และ สถาบันอุดมศึกษา
ที่ได้จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ และประเมินผลการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
1. รับทราบผลการประเมินการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ตรวจสอบความครบถ้วน ถูกต้องและมีความสมบูรณ์แล้ว และกรอบการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
2. เห็นชอบให้นำเงินเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและประเมินผลการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เพื่อใช้สำหรับการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.ร.กำหนด โดยให้ส่วนราชการ จังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา ที่มีเงินงบประมาณเหลือจ่าย ได้มีการดำเนินการกันเงินงบประมาณเหลือจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีกรณีไม่มีหนี้ผูกพันเพื่อนำมาจัดสรรเป็นเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และสามารถโอนเปลี่ยนแปลงรายการเงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ไปตั้งจ่ายในรายการเงินรางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติของหน่วยงานเพื่อใช้สำหรับการจัดสรรเป็นเงินรางวัล โดยไม่ต้องขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ เป็นการผ่อนผันวิธีปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการรอบ 12 เดือน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ดังนี้
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการติดตามและตรวจสอบผลการประเมินการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ซึ่งผลคะแนนเป็นที่สิ้นสุดแล้ว รวม 142 ส่วนราชการ จังหวัด 75 จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา 67 สถาบันอุดมศึกษา โดยมีผลการประเมินดังนี้
ผลการประเมิน ส่วนราชการ จังหวัด สถาบันอุดมศึกษา ผลคะแนนสูงสุด 4.852 4.4608 4.5216 ผลคะแนนต่ำสุด 2.5519 3.146 2.2854 ผลคะแนนเฉลี่ย 4.1888 3.9644 3.5899 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.4192 0.2663 0.4856
2. กรอบการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
ก.พ.ร. ได้พิจารณากรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ของส่วนราชการ จังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และข้อจำกัดด้านงบประมาณ โดยยังคงเป็น 4 มิติ และนำตัวชี้วัดเดิมตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ จังหวัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นหลักในการกำหนดกรอบและตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ดังนี้
1) ส่วนราชการ กระทรวงนำร่อง และจังหวัด มีการยกเลิกตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด ได้แก่
(1) ตัวชี้วัดในมิติที่ 2 ด้านคุณภาพการให้บริการ ได้แก่ “ระดับความสำเร็จในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนจนได้ข้อยุติ” เนื่องจากขอบเขตของการวัดค่อนข้างจำกัด โดยให้ส่วนราชการ จังหวัด ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนจนได้ข้อยุติ เฉพาะข้อร้องเรียนจากฐานข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น โดยไม่มีการวัดผลในเรื่องร้องเรียนที่หน่วยงานมีการรับเรื่องจากแหล่งอื่นๆ หรือจากหน่วยงานนั้นๆ ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้เอง หากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีการปรับปรุงรูปแบบ วิธีการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนจนได้ข้อยุติ โดยรวบรวมฐานข้อมูลที่มีความหลากหลายและครอบคลุมจากทุกแหล่งข้อมูล ก็อาจดำเนินการกำหนดเป็นตัวชี้วัดในปีต่อไป
(2) ตัวชี้วัดในมิติที่ 3 ด้านประสิทธิภาพ มี 2 ตัวชี้วัด ได้แก่
(2.1) ตัวชี้วัด“ระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงาน” เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดที่มีการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว ประกอบกับส่วนราชการและจังหวัดส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานในการประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพดีอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐมีความเข้าใจและวางมาตรการการใช้พลังงานทั้งการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างมีคุณภาพและกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นเจ้าภาพตัวชี้วัดนี้ได้สนับสนุนและวางระบบการติดตามและการรายงานผลการประหยัดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงานได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐาน และ
(2.2) ตัวชี้วัด“ระดับความสำเร็จของการตรวจสอบภายใน” ซึ่งกรมบัญชีกลางในฐานะเจ้าภาพตัวชี้วัด ได้แจ้งขอยกเลิก เนื่องจาก กรมบัญชีกลางมีการพัฒนาหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในตามมาตรฐานการตรวจสอบภายในและจริยธรรมของผู้ตรวจสอบภายในของส่วนราชการที่กรมบัญชีกลางกำหนด ซึ่งมีวัตถุประสงค์และขอบเขตการประเมินกว้างกว่าตัวชี้วัด “ระดับความสำเร็จของการตรวจสอบภายใน” โดยเริ่มดำเนินการประเมินผลให้กับหน่วยงานตรวจสอบภายในของส่วนราชการและจังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
2) สถาบันอุดมศึกษา
สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำร่างกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยได้คงตัวชี้วัดส่วนใหญ่ตามกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และได้ปรับปรุงตัวชี้วัดตามแนวทางการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ดังนี้
(1) จัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม ก วิทยาลัยชุมชน กลุ่ม ข สถาบันที่เน้นระดับปริญญาตรี กลุ่ม ค สถาบันเฉพาะทาง กลุ่ม ง สถาบันที่เน้นการวิจัยชั้นสูงและผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษาโดยเฉพาะระดับปริญญาเอก
(2) บูรณาการการใช้ข้อมูลร่วมกันของ 3 หน่วยงาน
สำนักงาน ก.พ.ร. จะใช้ข้อมูลผลการประเมินตนเองในระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษาของ สกอ. และข้อมูลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ซึ่งจะมีการบูรณาการตัวชี้วัดร่วมกันในระบบฐานข้อมูลของ สกอ.ที่เป็นระบบเครือข่ายที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาและคณะกรรมการประเมินระดับคณะวิชาและระดับสถาบันจะต้องประเมินคุณภาพการศึกษาผ่านระบบ CHE QA Online ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่สามารถใช้ข้อมูลจากระบบประกันคุณภาพฯ ของ สกอ. (จำนวน 12 ตัวชี้วัด) และการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.(จำนวน 4 ตัวชี้วัด) รวมทั้งหมด 16 ตัวชี้วัด นอกจากนี้ มีตัวชี้วัดที่ใช้ข้อมูลจากการประเมินผลของหน่วยงานเจ้าภาพ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง สำนักงาน ก.พ.ร. จำนวน 5 ตัวชี้วัด
3. แนวทางการจัดสรรเงินรางวัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 สำหรับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ และประเมินผลการปฏิบัติราชการประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2553
1) การจัดสรรเงินรางวัลตามผลการประเมินตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 48 และมาตรา 49 ในกรณีที่ส่วนราชการได้ดำเนินการให้บริการที่มีคุณภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งเป็นที่พึงพอใจแก่ประชาชน ให้ ก.พ.ร. เสนอคณะรัฐมนตรีจัดสรรเงินเพิ่มพิเศษเป็นบำเหน็จความชอบแก่ส่วนราชการ หรือให้ส่วนราชการใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายของส่วนราชการนั้น เพื่อนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงงานของส่วนราชการหรือจัดสรรเป็นรางวัลให้ข้าราชการในสังกัด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.ร. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
2) สำนักงาน ก.พ.ร.ได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553 เกี่ยวกับแนวทางการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และประสานงานกับกรมบัญชีกลางแล้ว ได้มีมติเห็นชอบให้การจัดสรรเงินรางวัลสำหรับผลการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 โดยให้ใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553
3) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 — พ.ศ. 2551 การจัดสรรเงินรางวัลได้ใช้เงินงบประมาณประจำปี ประมาณปีละ 5,550 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรภาครัฐมีแรงจูงใจในการทำงานให้ข้าราชการมีความรับผิดชอบ รวมถึงก่อให้เกิดการพัฒนาผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง จนสามารถบรรลุเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ นอกจากนี้ หากหน่วยงานใดสามารถประหยัดงบประมาณหรือลดค่าใช้จ่าย ทำให้มีเงินงบประมาณเหลือจ่าย ก็สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาองค์กรและการพัฒนาบุคลากร (ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้จัดสรรเงินรางวัล สำหรับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและประเมินผลการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยให้ใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ของหน่วยงาน และให้หน่วยงานนำไปจัดสรรต่อให้เฉพาะผู้ปฏิบัติเท่านั้น และให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.ร.กำหนด และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 และไม่ให้นำเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรไปหารเฉลี่ยให้เท่ากันทุกคน แต่ต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการและควรให้กับผู้ปฏิบัติที่มีความร่วมมือในการสร้างผลงานให้ส่วนราชการฯ รวมทั้งผู้ที่มีความทุ่มเทและมีผลงานให้ส่วนราชการฯ บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการและตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี ดังนั้น จึงเห็นควร ให้ใช้วิธีการใช้เงินเหลือจ่ายของส่วนราชการมาดำเนินการจัดสรรเป็นเงินรางวัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553
ทั้งนี้ เงินงบประมาณเหลือจ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางกำหนด หมายถึง เงินเหลือจ่ายจากการใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการดำเนินงานต่าง ๆ ของส่วนราชการในส่วนของงบดำเนินงาน งบลงทุน งบเงินอุดหนุน งบรายจ่ายอื่นที่ได้ดำเนินการใช้จ่ายตามแผนงาน งาน/โครงการจนบรรลุเป้าหมาย สามารถเพิ่มผลงานผลสัมฤทธิ์ โดยไม่เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายและคุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐ หรือสามารถดำเนินงานตามแผนการลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยได้ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.ร. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
4) การนำเงินงบประมาณเหลือจ่ายของส่วนราชการฯ มาใช้สำหรับการจัดสรรเงินรางวัล มีขอบเขตของการจัดสรรฯ โดยให้ส่วนราชการฯ ได้รับการจัดสรรภายใต้กรอบวงเงินที่เคยได้รับการจัดสรรคือไม่เกินกว่ากรอบวงเงินที่คะแนนเต็ม 5.0000 คะแนน ที่หน่วยงานได้รับการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2551(ประมาณการจากวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,550 ล้านบาท) ทั้งนี้ กรอบวงเงินที่หน่วยงานจะได้รับการจัดสรรขึ้นกับคะแนนผลการประเมินการปฏิบัติราชการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.ร.กำหนด สำหรับเงินงบประมาณเหลือจ่ายที่คงเหลือจากการจัดสรรเงินรางวัลฯ จะต้องนำส่งคืนคลัง เช่น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 หน่วยงานที่มีเงินเหลือจ่ายที่คงเหลือจากการจัดสรรเงินรางวัล ประมาณ 304,824,100.12 บาท
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กันยายน 2553--จบ--