แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 13:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 ประกอบด้วย 3 แผนงานย่อย ได้แก่ 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ 2. แผนการปรับโครงสร้างหนี้ 3. แผนการบริหารความเสี่ยง

2. อนุมัติการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554

3. อนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 แต่หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

4. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามผูกพันการกู้เงินและหรือการค้ำประกันเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะรายงานผลการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะรายงานว่า

1. คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้ประชุม เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ได้พิจารณาเห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2554 ดังนี้

1.1 แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 มีวงเงินดำเนินการรวมทั้งสิ้น 1,296,427.90 ล้านบาท ประกอบด้วยแผนงานย่อย 3 แผนงาน ได้แก่

          รายการแผน                                  วงเงิน                             รวม
                                          ในประเทศ           ต่างประเทศ
          1. แผนการก่อหนี้ใหม่              550,277.70           57,250.10          607,527.80
             1. รัฐบาล                   489,948.00           52,800.00          542,748.00
             2. รัฐวิสาหกิจ                 60,329.70            4,450.10           64,779.80
          2. แผนการปรับโครงสร้างหนี้        608,900.10                   -          608,900.10
             1. รัฐบาล                   501,796.56                   -          501,796.56
             2. รัฐวิสาหกิจ                107,103.54                   -          107,103.54
          3. แผนการบริหารความเสี่ยง         80,000.00                   -           80,000.00
          รวม (1+2-3)                                                         1,296,427.90

โดยในการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 มีกรอบการพิจารณา ดังนี้

1) นโยบายของรัฐบาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2) หลักเกณฑ์การพิจารณาความต้องการกู้เงินและบริหารหนี้เพื่อบรรจุในแผนฯ

3) สภาพคล่องในระบบการเงิน

1.2 แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 มีข้อมูลและผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการสรุปได้ดังนี้

1.2.1 แผนการก่อหนี้ใหม่

(1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล (วงเงินรวม 542,748 ล้านบาท) จำแนกเป็น

1) หนี้ในประเทศ : วงเงิน 480,000 ล้านบาท

2) หนี้ต่างประเทศ : วงเงิน 52,800 ล้านบาท

3) รัฐบาลกู้มาให้กู้ต่อ (ในประเทศ) : วงเงิน 9,948 ล้านบาท

(2) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ (วงเงินรวม 64,779.80 ล้านบาท) จำแนกเป็น

1) หนี้ในประเทศ : วงเงิน 60,329.70 ล้านบาท และ

2) หนี้ต่างประเทศ : วงเงิน 4,450.10 ล้านบาท

1.2.2 แผนการปรับโครงสร้างหนี้

(1) การปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล : หนี้ในประเทศ (วงเงิน 501,796.56 ล้านบาท)

(2) การปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจ : หนี้ในประเทศ (วงเงิน 107,103.54 ล้านบาท)

1.2.3 แผนการบริหารความเสี่ยง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงให้อยู่ในระดับเหมาะสม ตามหลักการในการบริหารความเสี่ยงหนี้สกุลเงินต่างประเทศและหนี้ในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้กำหนดกรอบวงเงินสำหรับการดำเนินการบริหารความเสี่ยงในปีงบประมาณ 2554 ไว้ที่ 80,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจสามารถเลือกบริหารความเสี่ยงตามความเหมาะสมของช่วงเวลาและสภาวะตลาด ณ เวลานั้น ทั้งนี้ให้ กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจอาจปรับวิธีการบริหารความเสี่ยงในแต่ละสัญญาเงินกู้ให้แตกต่างจากวิธี ที่ระบุไว้ในแผนฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด แต่ไม่เกินกรอบวงเงินตามที่คณะกรรมการฯ ได้กำหนดไว้

1.2.4 แผนการบริหารจัดการหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติภายใต้กรอบแผนฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2549 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2549 คณะกรรมการฯ มีมติให้แยกกิจกรรมออกโดยไม่ต้องขออนุมัติภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะแต่ยังคงต้องดำเนินการตามขั้นตอนการกู้เงินอื่นและรายงานให้คณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

2. ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้สาธารณประจำปีงบประมาณ 2554

2.1 ภาพรวมของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 มียอดหนี้สาธารณะคงค้าง 4,202,410.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.19 ของ GDP

2.2 แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 มีวงเงินดำเนินการ 1,296,427.90 ล้านบาท ได้แก่ (1) แผนการกู้เงินใหม่ 607,527.80 ล้านบาท (2) แผนการปรับโครงสร้างหนี้ 608,900.10 ล้านบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศทั้งสิ้น และ (3) แผนการบริหารความเสี่ยง 80,000 ล้านบาท

2.3 เมื่อรวมวงเงินการกู้เงินและบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินกู้และบริหารหนี้ของแผนฯ อีกจำนวน 117,355.26 ล้านบาท จะทำให้วงเงินดำเนินการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะ ในปีงบประมาณ 2554 มีวงเงินเท่ากับ 1,413,783.16 ล้านบาท

2.4 กรอบวงเงินกู้ตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่กำหนดให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินดำเนินการได้ยังคงอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

2.4.1 การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ (มาตรา 21) กำหนดกรอบวงเงินกู้ไว้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับการชำระคืนเงินต้น ซึ่งเท่ากับ 440,043.69 ล้านบาท

2.4.2 การกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (มาตรา 22) กำหนดกรอบเงินกู้ไว้ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเท่ากับ 207,000 ล้านบาท

2.4.3 การค้ำประกันและการให้กู้ต่อในประเทศแก่รัฐวิสาหกิจภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2554 มีรัฐวิสาหกิจเสนอขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาการค้ำประกัน และขอให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินบาทมาให้กู้ต่อวงเงินรวม 162,791.78 ล้านบาท โดยมาตรา 28 และมาตรา 25(2) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้และให้กู้ต่อเป็นบาทในปีงบประมาณหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งเท่ากับ 414,000 ล้านบาท

2.4.5 คาดการณ์ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP หากมีการดำเนินการตามแผนฯ ทั้งหมด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 คาดว่าจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับร้อยละ 43.8 และมีภาระหนี้ต่องบประมาณ อยู่ในระดับร้อยละ 10.1

2.4.6 ประมาณภาระหนี้ต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ (Debt Service Ratio: DSR) ในช่วงปีงบประมาณ 2554-2558 คาดการณ์ว่า DSR จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.23-0.51 โดยในปีงบประมาณ 2554 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.47 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 9 ตามที่กำหนดในข้อ 4 (3) ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549

2.4.7 การก่อหนี้ใหม่ทั้งหมดจะสามารถระดมทุนได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายของภาครัฐ

2.4.8 การออกพันธบัตรจะมีปริมาณการออกพันธบัตรอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอที่จะสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark) เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ