การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 15:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหม เสนอทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. ร่างปฏิญญาร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (Ha Noi Joint Declaration on the First ASEAN Defence Ministers’ Meeting - Plus)

2. หากมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดของร่างปฏิญญาร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาที่จะไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติ เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม

3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างปฏิญญาร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ตามข้อ 1

ทั้งนี้ ให้กระทรวงกลาโหมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงกลาโหม (กห.) รายงานว่า

1. กระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามกำหนดจะจัดการประชุมในระหว่างวันที่ 10 — 13 ตุลาคม 2553 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ดังนี้

1.1.การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Retreat : ADMM Retreat)

1.2. การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 1 (1st ASEAN Defence Ministers’ Meeting —Plus : ADMM-Plus) ซึ่งมีองค์ประกอบของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอีก 8 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี สหพันธรัฐรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ตามผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 4 ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมดังกล่าวและจะต้องลงนามในร่างปฏิญญาร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (Ha Noi Joint Declaration on First ASEAN Defence Ministers’ Meeting — Plus) ด้วย

2. กห.พิจารณาร่างปฏิญญาร่วมฯ ดังกล่าวแล้วมีความเห็น ดังนี้

2.1 ร่างปฏิญญาร่วมฯ ดังกล่าวมีลักษณะเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน (ก่อนการลงนาม)

2.2 ร่างปฏิญญาร่วมฯ ดังกล่าวมิได้มีข้อความส่วนใดที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีความผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด และ กห. สามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา ดังนั้น ร่างปฏิญญาร่วมฯ ดังกล่าวไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ