คณะรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมเวทีหารือเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 6 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
2. มอบหมายกระทรวงพลังงาน (พน.) ประสานกระทรวงยุทธศาสตร์และการคลังของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อหารือในรายละเอียดความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดและการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันสืบเนื่องจากผลการหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ฯ) และรัฐมนตรีกระทรวงยุทธศาสตร์และการคลังของสาธารณรัฐเกาหลี
3. มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พน. และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนำเสนอแผนงานความร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลีต่อธนาคารพัฒนาเอเชียในการประสานความร่วมมือระหว่างเกาหลีกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป
ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ฯ) รายงานว่าทางสาธารณรัฐเกาหลีร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ในฐานะเจ้าภาพจัดเวทีหารือเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ได้เชิญรัฐมนตรี GMS ของไทยและคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการหารือในเวทีการประชุมดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. นโยบายของสาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐเกาหลีได้ดำเนินนโยบาย Global Korea และเพิ่มบทบาทเชิงรุกอย่างเต็มตัวในการเป็นผู้ให้ที่เด่นชัดในภูมิภาคนี้ผ่านช่องทางทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมมูลค่ากว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาธารณรัฐเกาหลีได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงยุทธศาสตร์และการคลังและ ADB ในปี 2551 เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และได้จัดตั้งกองทุนความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Cooperation Fund : EDCF) วงเงินรวม 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่ม GMS ร่วมกับ ADB ซึ่งปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สถานะเมื่อเดือนธันวาคม 2552) เพื่อพัฒนาถนนในกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และเวียดนาม รวมถึงเพื่อร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของแผนงานพนมเปญซึ่งเป็นแผนพัฒนาศักยภาพของภาครัฐของประเทศ GMS ในขณะที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าและธนาคารเพื่อการพัฒนาของเกาหลีได้จัดเตรียมเงินทุนเพื่อร่วมพัฒนาอนุภูมิภาคประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
2. การจัดเวทีหารือเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 6-7 กันยายน 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีหารือเชิงลึกเพื่อกำหนดสาขาความร่วมมือ แผนการทำงาน และโครงการที่สำคัญร่วมกัน ระหว่างสาธารณรัฐเกาหลี ประเทศ GMS และ ADB ในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าแผนงาน GMS และศักยภาพของอนุภูมิภาคในปัจจุบัน ซึ่งการสนับสนุนของภาคีการพัฒนาดังเช่นสาธารณรัฐเกาหลีจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้ามีความต้องการงบประมาณสูง ถึง 20-25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและการดำเนินงานใน 9 สาขาความร่วมมือ (คมนาคม โทรคมนาคม พลังงาน เกษตร การลงทุน การท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกการค้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม)
3. ผลการประชุมเวทีหารือเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 6
รัฐมนตรีกระทรวงยุทธศาสตร์และการคลังสาธารณรัฐเกาหลี รองประธาน ADB และรัฐมนตรีประเทศสมาชิกแผนงาน GMS ได้แก่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว (Mme.Khempheng Pholsena) รัฐมนตรีกระทรวงการรถไฟสหภาพพม่า (Mr.Thaung Lwin) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ฯ)ได้แจ้งนโยบายการดำเนินงานของกลุ่มประเทศ GMS ในช่วงพิธีเปิดการประชุม เจ้าหน้าที่อาวุโสจาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และภาครัฐและเอกชนของสาธารณรัฐเกาหลี ได้ร่วมหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศ GMS ในด้านคมนาคมขนส่งการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่ง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และโทรคมนาคม โดยผลการประชุมที่สำคัญประกอบด้วย
3.1 รัฐมนตรีกระทรวงยุทธศาสตร์และการคลังของสาธารณรัฐเกาหลี ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าสาธารณรัฐเกาหลีจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศ GMS ทั้งในด้านวิชาการและการเงิน ร่วมมือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ปัจจุบันสาธารณรัฐเกาหลีได้ให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Overseas Development Assistance : ODA) แก่ประเทศ GMS แล้วประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า เมื่อถึงปี 2558 และขยายสัดส่วนของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม (Green ODA) จากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 30 ภายในปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศเพื่อรองรับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปนอกจากนี้ ในระยะสามปีแรกสาธารณรัฐเกาหลีจะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินในลักษณะ Co-Financing ร่วมกับ ADB และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 ผ่านกองทุนความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ (EDCF) และสนับสนุนให้ภาคเอกชนสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาลงทุนยังอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพิ่มมากขึ้นด้วย
3.2 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ฯ) ได้ชี้ให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นทั้งภายในและภายนอกอนุภูมิภาคทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจำเป็นต้องสร้างสมดุลในการพัฒนาที่ไม่พึ่งพิงตลาดภายนอกประเทศมากจนเกินไปและเพิ่มความร่วมมือภายใต้แผนงาน GMS ให้ใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่สาธารณรัฐเกาหลีจะเพิ่มบทบาทในการเป็นภาคีการพัฒนา โดยไทยได้เน้นย้ำความพร้อมในการร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อการพัฒนา อนุภูมิภาค
4. แนวทางความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศ GMS ในสาขาที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่ง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม
5. ผลการหารือทวิภาคีระดับรัฐมนตรี ระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงยุทธศาสตร์และการคลัง สาธารณรัฐเกาหลี (Mr.Yoon Jeung-Hyun) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ฯ )ในเรื่องดังต่อไปนี้
5.1 สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยและเสถียรภาพของรัฐบาล โดยรัฐมนตรีกระทรวงยุทธศาสตร์ฯ ได้แสดงความมั่นใจในรัฐบาลไทยและแสดงความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในระยะต่อไป โดยรับทราบข้อเท็จจริงจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทยว่ารัฐบาลไทยสามารถดูแลสถานการณ์ทางการเมืองให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนสร้างความปรองดองภายในประเทศ
5.2 ความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานสะอาดและการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้เห็นชอบในหลักการที่ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีจะร่วมมือกันในการพัฒนาพลังงานสะอาด และมอบหมายให้มีการหารือในรายละเอียดของความร่วมมือในระดับเจ้าหน้าที่ต่อไป
5.3 รัฐมนตรีกระทรวงยุทธศาสตร์และการคลังของสาธารณรัฐเกาหลีได้สอบถามถึงสถานการณ์ผลผลิตและราคาข้าวในประเทศไทย ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ฯ) ได้แจ้งว่า ราคาข้าวภายในประเทศและราคาส่งออกไม่แตกต่างกันมากนัก อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวในปี 2554 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กันยายน 2553--จบ--