กรอบการเจรจาเพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างพิธีสารเสริม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 15:20 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง กรอบการเจรจาเพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างพิธีสารเสริมว่าด้วยการรับผิดและ

การชดใช้ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบกรอบการเจรจาร่างพิธีสารเสริมว่าด้วยการรับผิดและการชดใช้ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ตามความเห็นคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) ดังนี้

1.1 เห็นชอบในหลักการของพิธีสารเสริมว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อให้เป็นกลไกการดำเนินงานตาม มาตรา 27 ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

1.2 ขอบเขตความเสียหายควรเน้นความเสียหายจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

1.3 พิธีสารเสริมว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ควรมีกลไกควบคุมดูแลที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับภาคีนำเข้า และในขณะเดียวกัน สร้างแรงจูงใจให้ภาคีส่งออกมีการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนอย่างถูกต้องตามกฎหมายและ/หรือ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

1.4 ขอบเขตไม่ควรรวมผลิตภัณฑ์สืบเนื่อง (product thereof) เนื่องจากการพิสูจน์ความเสียหายจากผลิตภัณฑ์สืบเนื่องทำได้ยาก และไม่มีสภาพเป็นสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม หากภาคีส่วนใหญ่เห็นว่าควรรวมไว้ในขอบเขต ขอให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเสริมสร้างสมรรถนะในเรื่องนี้ให้กับประเทศกำลังพัฒนาด้วย

1.5 ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เห็นควรให้มีการกำหนดเรื่องความมั่นคงทางการเงินไว้ให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หลักการของพิธีสารเสริมฯ กำหนดให้ผู้ประกอบกิจกรรมจะต้องรับผิดชอบในการดำเนินการตามมาตรการตอบสนองทันทีที่เกิดผลกระทบ และ/หรือ ชดใช้ค่าเสียหายอยู่แล้ว

2. เห็นชอบในหลักการต่อร่างพิธีสารเสริมว่าด้วยการรับผิดและการชดใช้ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจะมีการพิจารณาในการประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ สมัยที่ 5 ในระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2553 ณ เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสามารถนำร่างพิธีสารเสริมฯ ดังกล่าวเปิดให้ภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ พิจารณาลงนามรับรอง (adoption) ได้ตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้คือในช่วงระหว่างวันที่ 7 มีนาคม 2554 — 6 มีนาคม 2555

สาระสำคัญร่างพิธีสารเสริมว่าด้วยการรับผิดและการชดใช้ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน, โดยคำนึงถึงสุขภาพของมนุษย์, โดยการจัดเตรียมกฎเกณฑ์และแนวทางระหว่างประเทศในเรื่องของการรับผิดและชดใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม

ร่างพิธีสารเสริมฯ ประกอบด้วย 21 มาตรา โดย มาตรา 1-12 เป็นเนื้อหาพันธกรณี และมาตรา 13-21 เป็นการบริหารต่างๆ ของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

1. ร่างพิธีสารเสริมฯ ฉบับนี้นำมาใช้กับความเสียหาย

  • ต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์
  • ที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตอำนาจรัฐของภาคี
  • เป็นผลมาจากการขนส่ง การนำผ่าน การดูแล และการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนเพื่อนำมาใช้โดยตรงเป็นอาหารหรืออาหารสัตว์หรือใช้ในกระบวนการผลิต, หรือ เพื่อการใช้ในสภาพควบคุม, หรือ เพื่อปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

2. เป็นการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนทั้งโดยเจตนา โดยไม่เจตนาตามมาตรา 17 ของพิธีสารฯ, โดยผิดกฎหมายตามมาตรา 25 ของพิธีสารฯ และโดยประเทศที่ไม่ใช่ภาคี

3. ภาคีจะต้องกำหนดมาตรการตอบสนองในกรณีเกิดความเสียหายและดำเนินการโดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ หรืออาจกำหนดไว้ในกฎหมายภายในว่าด้วยการรับผิดทางแพ่ง

4. กฎหมายภายในจะต้อง

  • กำหนดให้ผู้ประกอบกิจกรรมแจ้งหน่วยงานรับผิดชอบทันทีที่เกิดความเสียหาย, ประเมินความเสียหาย, และดำเนินมาตรการตอบสนองที่เหมาะสม และต้องไม่ขัดขวางการดำเนินการใดๆ ของหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขเยียวยา และภาคีมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการประเมินความเสียหายและการดำเนินการตามมาตรการจากผู้ประกอบกิจกรรม
  • กำหนดเรื่องการแก้ไขเยียวยา, การทบทวนการบริหารการจัดการ/ การตัดสินของศาล
  • กำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางการรับผิดทางแพ่ง โดยอาจใช้ (ก) กฎหมายที่มีอยู่ หรือ (ข) พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์นี้ หรือ (ค) ผสมผสาน (ก) และ (ข) โดยระบุถึงความเสียหาย มาตรการรับผิด ช่องทางการรับผิด สิทธิที่จะเรียกร้อง

5. ภาคีอาจ

  • ใช้เกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายภายในมากำหนดความเสียหาย
  • กำหนดช่วงเวลาที่ดำเนินการ
  • ข้อจำกัดทางการเงินเพื่อเรียกคืนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ