การรับรองร่างเอกสารผลการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 8

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 15:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงของประธานและร่างแถลงการณ์ของผู้นำเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลก ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของร่างเอกสารผลการประชุมทั้ง 2 ฉบับหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย โดยไม่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. รัฐบาลเบลเยี่ยมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 8 (8th Asia-Europe Meeting- ASEM 8) ระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม 2553 ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิก ASEM ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ตอบรับคำเชิญของฝ่ายเบลเยี่ยมที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวแล้ว ในการนี้ที่ประชุมผู้นำ ASEM 8 จะรับรองร่างเอกสารผลการประชุมผู้นำ ASEM 8 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างถ้อยแถลงของประธาน (Chair’s Statement) และ 2) ร่างแถลงการณ์ของผู้นำ (Leaders’ Declaration) เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมีข้อมูลเกี่ยวข้อง ดังนี้

1.1 การประชุมผู้นำ ASEM จัดขึ้นทุก 2 ปี โดยประเทศสมาชิก ASEM ฝ่ายยุโรปและฝ่ายเอเชียสลับกันเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ ได้มีการประชุมผู้นำ ASEM แล้ว 7 ครั้ง โดยการประชุมผู้นำ ASEM 1 จัดเมื่อวันที่ 1-2 มีนาคม 2539 ณ กรุงเทพฯ ล่าสุด การประชุมผู้นำ ASEM 7 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 ตุลาคม 2551 ณ กรุงปักกิ่งและการประชุมผู้นำ ASEM 8 จะจัดระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคม 2553 ณ กรุงบรัสเซลส์

1.2 ที่ประชุมผู้นำ ASEM ทุกครั้งที่ผ่านมาได้รับรองเอกสารผลการประชุมผู้นำ ASEM ในรูปแบบถ้อยแถลงของประธาน (Chair’s Statement) ซึ่งครอบคลุมประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมที่ประเทศสมาชิก ASEM ให้ความสำคัญ และประสงค์จะเน้นความสำคัญขยายความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน และยังได้รับรองเอกสารผลการประชุมผู้นำ ASEM ในรูปแบบแถลงการณ์ของผู้นำ (Leaders’ Declaration) ซึ่งเน้นประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญเป็นพิเศษตามแต่สถานการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงการประชุมผู้นำ ASEM และเป็นเอกสารเพิ่มเติมจากถ้อยแถลงของประธาน

1.3 ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ASEM (ASEM Senior Officials’ Meeting- ASEM SOM) ได้พิจารณาร่างเอกสารผลการประชุมผู้นำ ASEM 8 ทั้ง 2 ฉบับอย่างต่อเนื่อง โดยสถานะของร่างเอกสารผลการประชุมผู้นำฯ ฉบับล่าสุด คือ ณ วันที่ 13 กันยายน 2553 การประชุม ASEM SOM จะพิจารณาร่างเอกสารผลการประชุมผู้นำ ASEM 8 ครั้งสุดท้ายในวันที่ 3 ตุลาคม 2553 ณ กรุงบรัสเซลส์

2. สาระสำคัญของร่างเอกสารผลการประชุมผู้นำ ASEM 8

2.1 ร่างถ้อยแถลงของประธาน

ร่างถ้อยแถลงของประธานมีสาระสำคัญประกอบด้วย 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1) การบริหารเศรษฐกิจโลกที่มีประสิทธิภาพ 2) การพัฒนาอย่างยั่งยืน-การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การรวมตัวทางสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างภูมิภาคเอเชีย-ยุโรปในอนาคต 3)ประเด็นระดับโลก-การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การป้องกันภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือภายหลังการเกิดภัยพิบัติ ความมั่นคงมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โจรสลัด การปฏิรูประบบสหประชาชาติ การลดอาวุธ 4) ประเด็นระดับภูมิภาค-สถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียและยุโรป สถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและยุโรป และ 5) ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสู่ประชาชน การทำให้ ASEM เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น และอนาคตของ ASEM

2.2 ร่างแถลงการณ์ของผู้นำเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ร่างแถลงการณ์เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลกมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรปในการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นและระยะยาวการปฏิรูปโครงสร้างของสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศ และความเชื่อมโยงระหว่าง ASEM กับการประชุม G- 20

2.3 ประเด็นที่ฝ่ายไทยผลักดันในเอกสารผลการประชุมผู้นำ ASEM 8

กระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม ASEM SOM เพื่อพิจารณาร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ และผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทยโดยหารือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว ดังนี้

2.3.1 ร่างถ้อยแถลงของประธาน กระทรวงการต่างประเทศ ได้ผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทย ซึ่งได้สะท้อนอยู่ในร่างงเอกสารฉบับล่าสุด ได้แก่ 1) การยึดมั่นในกรอบและวัตถุประสงค์ของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) และการให้ความสำคัญต่อการประชุมระดับสูงเรื่องเป้าหมายเพื่อการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (High Level Plenary Meeting on MDGs) ณ นครนิวยอร์ก 2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Connectivity) ในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในอาเซียนและส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงในกรอบเอเชียและยุโรปซึ่งฝ่ายยุโรปสามารถให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมได้ 3) การให้ความสำคัญต่อเรื่องกลไกและกรอบความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคที่ยุโรปสามารถสนับสนุนและให้ความร่วมมือได้ เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady —Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy-ACMECS) และกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion-GMS ) 4) การกระตุ้นให้เกิดความสนใจในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ASEM (ASEM Economic Ministers’ Meeting) อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่เลื่อนการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด และ 5)การให้ความสำคัญของกรอบและกระบวนการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) โดยให้ความสำคัญต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้พลังงานที่สะอาดจากประเทศพัฒนาแล้วให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา

2.3.2 ร่างแถลงการณ์ของผู้นำ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ของไทย ซึ่งได้สะท้อนอยู่ในร่างเอกสารฉบับล่าสุด ได้แก่ 1) สนับสนุนบทบาทขององค์กรภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารวิกฤตและปรับปรุงองค์กรและสถาบันทางการเงินโลก 2) เน้นย้ำความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันและองค์กรทางการเงินโลกและให้ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความสมดุล และ 3) ผลักดันผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาที่มิได้อยู่ในกรอบการประชุมผู้นำ G-20 โดยเฉพาะสานต่อท่าทีของอาเซียนและความเชื่อมโยงกับกรอบผู้นำ G-20 โดยผ่านกรอบ ASEM เพื่อผลักดันผลประโยชน์ของไทยและอาเซียน

3. ร่างถ้อยแถลงของประธานและร่างแถลงการณ์ของผู้นำเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลกเป็นเอกสารจากผลการหารือของการประชุมนำ ASEM 8 และสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของผู้นำต่อแนวทางการดำเนินการต่อไปของ ASEM โดยมิได้มีการลงนามและไม่ได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างเอกสารผลการประชุม ผู้นำ ASEM ทั้ง 2 ฉบับ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อย่างไรก็ตาม โดยที่ที่ประชุมผู้นำ ASEM 8 จะรับรองร่างเอกสารผลการประชุมผู้นำ ASEM ทั้ง 2 ฉบับ ในรูปของแถลงการณ์ซึ่งเป็นเรื่องที่มีนัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จึงเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 4 (7) ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ