การค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 8 เดือนของปี 2553 (มกราคม-สิงหาคม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 15:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 8 เดือนของปี 2553 (มกราคม-สิงหาคม) ของกระทรวงพาณิชย์ ดังนี้

1. การส่งออก

1.1 การส่งออกเดือนสิงหาคม 2553

1.1.1 การส่งออก มีมูลค่า 16,452.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 23.9 การส่งออกยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 527,286.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5

1.1.2 สินค้าส่งออก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 และสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4

(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ยางพารา อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และ ไก่แช่แข็งและแปรรูป ขณะที่มันสำปะหลัง และ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณลดลงเล็กน้อยเนื่องจากราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับสินค้าที่ส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าว ปริมาณและมูลค่าลดลง ร้อยละ 13.5 และ 18.6 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาการแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม ปากีสถานและอินเดีย รวมทั้ง การแข็งค่าของเงินบาท ผัก ผลไม้ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 25.8 และ 2.8 ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตในประเทศลดลง น้ำตาล ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 56.6 และ 42.5 ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตในประเทศลดลงและความต้องการในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ สินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ส่งออกเพิ่มขึ้น

สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารสัตว์เลี้ยง เลนส์ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ และ ของเล่น

สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง และ ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์

สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ อัญมณี ที่ลดลงร้อยละ 14.4 เป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ลดลงถึงร้อยละ 72.9 ขณะที่อัญมณีที่หักทองคำออกแล้วเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึงร้อยละ 47.4 วัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 9.2 เป็นการลดลงของการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า(โครงก่อสร้าง)ไปออสเตรเลียที่ลดลงถึงร้อยละ 78.6 และ สิ่งพิมพ์ กระดาษและบรรจุภัณฑ์ลดลงร้อยละ 1.9 เป็นการลดลงในฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญถึงร้อยละ 11.5 เนื่องจากต้องแข่งขันกับจีนที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ โดยมีการสร้างโรงงานกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย

1.1.3 ตลาดส่งออก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราสูง ในตลาดหลักและตลาดศักยภาพสูง ขณะที่ตลาดศักยภาพระดับรองการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว

(1) ตลาดหลัก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สิบถึงร้อยละ 31.2 เป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐฯและญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงต่อเนื่องถึงร้อยละ 36.8 และ 35.5 ตามลำดับ

(2) ตลาดศักยภาพสูง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 25.8 เป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด โดยเฉพาะอินเดียและอาเซียน(5) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 44.3 และ 31.4 ตามลำดับ

(3) ตลาดศักยภาพระดับรอง ส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 11.5 เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 10.1 และ 5.4 ขณะที่การส่งออกไปลาตินอเมริกาขยายตัวถึงร้อยละ 105.6

  • ตะวันออกกลางเป็นการลดลงของการส่งออกไปอิหร่านที่ลดลงถึงร้อยละ 80.4 สินค้าที่ส่งออกลดลงได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ(ลดลงร้อยละ 99.6) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ(ลดลงร้อยละ 59.8) และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า(ลดลงร้อยละ 96.3)
  • ทวีปออสเตรเลีย เป็นการลดลงของการส่งออกสินค้า ทองคำ (ลดลงร้อยละ 100.0) ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าประเภทโครงก่อสร้าง (ลดลงร้อยละ 78.6)

1.2 การส่งออกในระยะ 8 เดือนของปี 2553 (ม.ค.-ส.ค.)

1.2.1 การส่งออก การส่งออกมีมูลค่า 125,083.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.6 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 4,047,974.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3

1.2.2 สินค้าส่งออก เพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้า ดังนี้ สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.0 และสินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3

(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการ เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะ ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล และอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และไก่แช่แข็งและแปรรูป รวมทั้งผักและผลไม้ ที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณส่งออกลดลงเล็กน้อย ส่วน ข้าว ส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าร้อยละ 9.5 และ 5.9 ตามลำดับ จากปัญหาการแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม ปากีสถานและอินเดียและการแข็งค่าของเงินบาท

(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการ ยกเว้นทองคำ

  • สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องสำอาง เป็นต้น รวมทั้งอัญมณีที่หักทองคำแล้วส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.8 (อัญมณีเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ส่วนทองคำลดลง ร้อยละ 2.1)
  • สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ สิ่งทอวัสดุก่อสร้าง สิ่งพิมพ์ เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ นาฬิกา เครื่องกีฬา และ ของเล่น

1.2.3 ตลาดส่งออก

(1) ตลาดหลัก ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 27.8 และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(15) เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 , 26.2 และ 21.5 ตามลำดับ

(2) ตลาดศักยภาพสูง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 42.5 และเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงในทุกตลาด ทั้ง อาเซียน(5) จีน อินโดจีนและพม่า ฮ่องกง และ อินเดีย

(3) ตลาดศักยภาพระดับรอง ส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 24.7 และเป็นการขยายตัวในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะลาตินอเมริกา และ ยุโรปตะวันออกที่ขยายตัวในอัตราสูง ยกเว้นแอฟริกาที่ส่งออก ลดลงร้อยละ 1.9 เป็นการลดลงของการส่งออกเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์(โครงก่อสร้าง) และข้าว ที่ลดลงร้อยละ 79.2 และ 25.3 ตามลำดับ

2. การนำเข้า

2.1 การนำเข้าเดือนสิงหาคม 2553

2.1.1 การนำเข้า มีมูลค่า 15,809.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.1 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 512,533.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0

2.1.2 สินค้านำเข้า สินค้านำเข้าสำคัญมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกหมวดดังนี้

(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1 สินค้าเชื้อเพลิงที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.4 ในเชิงปริมาณมีจำนวน 27.5 ล้านบาร์เรล (886,120 บาร์เรลต่อวัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 เนื่องจากการขยายตัวของภาคการผลิต การส่งออก และการขนส่งโลจิสติกส์ที่สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

(2) สินค้าทุน นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.9 เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและความชัดเจนของการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า จึงตัดสินใจซื้อสินค้าในหมวดทุนเพิ่มขึ้น เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายการผลิต การนำเข้าสินค้าทุนที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.0 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8

(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 สอดคล้องกับภาคการส่งออกและภาคการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าถูกลงจากค่าเงินบาทแข็งค่า จูงใจให้มีการซื้อเพิ่มขึ้น สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสำคัญ ได้แก่

  • เคมีภัณฑ์ นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเม็ดพลาสติก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ
  • อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8
  • เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ นำเข้าปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.9 เป็นการนำเข้าตามความต้องการบริโภคภายในประเทศ เพื่อใช้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และเหล็กแผ่นเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์สำหรับการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ
  • ทองคำ นำเข้าปริมาณ 16.9 ตัน มูลค่า 634.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 165.0 และ 236.8 ตามลำดับ เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง และเงินบาทแข็งค่าขึ้น

(4) สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.5 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีทิศทางดีขึ้นทั้งภาคการผลิตและท่องเที่ยว ประกอบกับรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.6 ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3

(5) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 98.7 การนำเข้าสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.4 รถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.3 รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 143.0 ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.3

2.2 การนำเข้าในระยะ 8 เดือนของปี 2553 (ม.ค.-ส.ค.)

2.2.1 การนำเข้า นำเข้ามูลค่า 119,002.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.9 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 3,896,253.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8

2.2.2 สินค้านำเข้าสำคัญ มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้าดังนี้ สินค้าเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.4 สินค้าทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8 สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.8 สินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9 และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 102.0

3. ดุลการค้า

เดือนสิงหาคม 2553 ไทยเกินดุลการค้า 642.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อคิดในรูปเงินบาท เกินดุลการค้ามูลค่า 14,752.5 ล้านบาท ส่งผลให้ในระยะ 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ไทยเกินดุลการค้า 6,080.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 151,720.6 ล้านบาท

4. เปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยกับประเทศคู่แข่ง ปี 2553

                      มค. 53    กพ. 53    มีค. 53    เมย. 53    พค.53    มิย.53    กค.53     สค.53
          ไทย           30.8      23.1      40.9       35.2     42.1     46.3     20.6      23.9
          จีน            21.0      45.7      24.2       30.4     48.4     43.9     38.0      34.3
          ไต้หวัน         75.8      32.6      50.1       47.8     57.9     34.1     38.5      26.6
          เกาหลีใต้       45.8      30.3      34.3       29.8     40.5     32.4     28.3      29.6
          เวียดนาม       34.8     -25.6       5.3       24.6     43.0     33.4     25.5      32.7
          สิงคโปร์        37.0      19.2      29.3       30.0     29.0     28.3       Na
          มาเลเซีย       37.0      18.4      36.4       26.6     21.9     17.2       Na
          ฟิลิปปินส์        42.4      42.5      43.7       28.2     37.3     33.4       Na

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ