สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย (ระหว่างวันที่ 10 — 27 กันยายน 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 16:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย (ระหว่างวันที่ 10 — 27 กันยายน 2553) ของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย (ระหว่างวันที่ 10 — 27 กันยายน 2553) รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ในห้วงเวลาดังกล่าว ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย (ระหว่างวันที่ 10 — 27 กันยายน 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 11 จังหวัด 23 อำเภอ 112 ตำบล 445 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน สุโขทัย ลำพูน พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดนครราชสีมา ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 19,490 ครัวเรือน 48,575 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 28,528 ไร่

1.2 สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนี้

1) จังหวัดสุโขทัย น้ำในแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร พื้นที่การเกษตร ในพื้นที่อำเภอเมือง 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลยางซ้าย ปากพระ ปากแคว บ้านสวน บ้านหลุม และตำบลตาลเตี้ย โดยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำกระสอบทรายทำเป็นคันกั้นน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้ามาท่วมในพื้นที่ และเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำยมอย่างต่อเนื่อง

2) จังหวัดพิจิตร ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมมีระดับสูงขึ้น ประกอบมีฝนตก ในพื้นที่ทำให้น้ำในแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่ง 4 อำเภอ 14 ตำบล ได้แก่ อำเภอสามง่าม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลสามง่าม กำแพงดิน รังนก และตำบลเนินปอ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลโพธิ์ประทับช้าง วังจิก ไผ่ท่าโพ และตำบลไผ่รอบ อำเภอบึงนาราง ที่ตำบลบางลาย และอำเภอโพทะเล 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลโพทะเล ท่าเสา ทะนง ท้ายน้ำ และตำบลท่าขมิ้น

3) จังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านมีระดับสูงขึ้น ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรของอำเภอชุมแสง 2 ตำบล ได้แก่ตำบลบางเคียน (หมู่ที่ 1,3,4,5,6,7,9,11,13,14) และตำบลโคกหม้อ (หมู่ที่ 2,3,4,6,8,) พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 2,538 ไร่

4) จังหวัดชัยนาท ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ 5 อำเภอ 13 ตำบล 91 หมู่บ้าน ราษฎรเดือนร้อน 8,076 ครัวเรือน 18,084 คน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเนินขาม 3 ตำบล และอำเภอหนองมะโมง 4 ตำบล

5) จังหวัดสิงห์บุรี ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เกิน 1,800 และ 2,000 ลบ.ม./วินาที ตามลำดับ ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณสูงขึ้นเอ่อไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่อำเภออินทร์บุรี 6 ตำบล 1 เทศบาล ได้แก่ ตำบลท่างาม (หมู่ที่ 1-4,6-9) ตำบลน้ำตาล (หมู่ที่ 1-8) ตำบลประศุก (หมู่ที่ 1-7) ตำบลทับยา (หมู่ที่ 1-8) ตำบลอินทร์บุรี (หมู่ที่ 1,2,6-10) ตำบลชีน้ำราย (หมู่ที่ 1-6,8) และเทศบาลตำบลอินทร์บุรี (หมู่ที่ 3,4,6,7) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 434 คน 124 ครัวเรือน

6) จังหวัดอ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอป่าโมก 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลโผงเผง และตำบลบางเสด็จ เนื่องจากปริมาณน้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 1,800 ลบ.ม./วินาที

7) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำน้อย มีปริมาณสูงขึ้น ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มการเกษตรใน 5 อำเภอ 54 ตำบล 297 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา 4 ตำบล อำเภอบางไทร 23 ตำบล อำเภอมหาราช 12 ตำบล อำเภอผักไห่ 7 ตำบล และอำเภอบางบาล 8 ตำบล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 13,977 คน 4,494 ครัวเรือน

1.3 การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว พร้อมเร่งออกสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ต่อไป

1.4 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ

1) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง จัดส่งรถผลิตน้ำดื่ม จำนวน 1 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 1 คัน สนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ตำบลนางแล
  • ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย สนับสนุนรถแบ็กโฮ จำนวน 1 คัน แก่สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดเชียงรายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่ตำบลวาวี และรถบรรทุกน้ำ จำนวน 2 คัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ตำบลนางแล

2) กรมชลประทาน

ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,200 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 885 เครื่อง ในพื้นที่ 59 จังหวัด

3) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก

  • จทบ.น.น. จัดกำลังพล 24 นาย รยบ. 1 คัน และเรือพระราชทาน 1 ลำ เข้าให้การช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของ และรับ-ส่งประชาชน ที่หมู่บ้านแสงดาว หมู่บ้านท่าล้อ ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง และหมู่บ้านภูมินทร์-ท่าลี่ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
  • กองทัพภาคที่ 2 จัดกำลังพล และรถแบ็กโฮ จำนวน 10 คัน ให้การช่วยเหลือราษฎรสร้างแนวคันกั้นน้ำ ในพื้นที่ตำบลหนองบัวศาลา (หมู่ที่ 2,8,10) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

1.5 สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้พระราชทานถุงยังชีพ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา น่าน และจังหวัดสุโขทัย รวมจำนวน 7,000 ครอบครัว

2) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำชุด ธารน้ำใจพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง แพร่ นครสวรรค์ เชียงราย อุตรดิตถ์ พิจิตร นครนายก เพชรบูรณ์ หนองคาย และจังหวัดอุดรธานี รวมจำนวน 9,662 ชุด น้ำดื่ม 14,700 ขวด และสนับสนุนเรือท้องแบน 2 ลำ รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และที่จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนี้

  • วันที่ 27 กันยายน 2553 นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นผู้แทนพระองค์นำชุดธารน้ำใจฯ พระราชทาน ไปบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่องค์การบริหารส่วนตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง จำนวน 550 ชุด และที่วัดศรีกุ ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 2,000 ชุด

3) กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง แพร่ แม่ฮ่องสอน น่าน สกลนคร และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมจำนวน 5,550 ชุด

4) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากสภากาชาดไทย ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ ปทุมธานี และจังหวัดชัยภูมิ รวมจำนวน 10,090 ถุง และอาหารกล่อง จำนวน 3,500 กล่อง

2. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 27 กันยายน — 2 ตุลาคม 2553

2.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในวันที่ 27 กันยายน 2553 ลมตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนกระจาย สำหรับในช่วง วันที่ 28 กันยายน-2 ตุลาคม 2553 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักไว้ด้วย

2.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ