รายงานผล การเสวนา เรื่อง “ส่งออกอย่างไรในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่า” และสรุปมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 16:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลรายงานผล การเสวนา เรื่อง “ส่งออกอย่างไรในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่า” และสรุปมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก ของกระทรวงพาณิชย์ ดังนี้

1. ความเป็นมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มีบัญชาให้กรมส่งเสริมการส่งออกจัดเสวนาให้ความรู้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นและสรุปแนวทางการแก้ปัญหาในภาวะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศผันผวน ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อรับมือกับสภาวะ ที่เงินบาทแข็งค่าในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการส่งออก จึงได้จัดเสวนา เรื่อง “ส่งออกอย่างไรในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่า” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2553 ระหว่างเวลา 09.00-12.30 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท โดยมีผู้เสวนาจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย นายกสมาคมแช่เยือกแข็งไทย สมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้เข้าฟังเสวนา 240 คน

2. ประเด็นปัญหาและมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากการเสวนาเรื่อง “ส่งออกอย่างไรในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่า” มีดังนี้

2.1 การแทรกแซงค่าเงินไม่ให้ผันผวน และสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค เนื่องจากผู้ส่งออกไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ โดยสินค้าส่งออกบางกลุ่ม ที่เป็นสินค้าต้องแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่มีค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าไทยอาจเสียส่วนแบ่งการตลาด

2.2 ควบคุมการไหลของเงินทุนต่างประเทศ (CAPITAL CONTROL) ในปัจจุบันมีเงินนอกทะลักเข้ามาทำกำไรระยะสั้น จากตลาดหุ้น Bond และอัตราแลกเปลี่ยนโดยอาจมีมาตรการของการกำหนดระยะเวลาการนำเงินเข้ามาลงทุน การออกมาตรการเรื่องค่าธรรมเนียม แต่จะต้องไม่กระทบการนำเงินเข้า FDI ที่จะต้องแยกในเรื่องของผลกระทบจากภาคตลาดทุนและตลาดการเงิน

2.3 อนุญาตให้ชำระค่าระวางเรือ เป็นสกุลเงินต่างประเทศ หากมีการชำระค่าระวางเรือ ที่มีการเสนอราคาเป็น CIF ผู้ส่งออกสามารถชำระค่าระวางเรือ เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ ไปชำระค่าระวางเรือได้ โดยไม่ต้องแลกเป็นเงินบาท

2.4 ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยที่อัตรา 1.75% ของธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะนี้มีอัตราสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ส่งผลให้เงินนอกไหลเข้ามาทำกำไรในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร/ตลาดการเงิน โดยเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ หมุนเวียนเข้า-ออก ทำให้เงินบาทแข็งค่า

2.5 ลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออก เพื่อไปทดแทนกับ ส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่ เพิ่มขึ้น โดยลดค่าธรรมเนียมศุลกากรในการส่งออกต่อใบขน ค่าล่วงเวลาหลังเวลาราชการเพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ส่งออก โดยอาจดำเนินการในช่วง 3 — 6 เดือน เป็นมาตรการชั่วคราว

2.6 ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเข้าถึงการทำประกันความเสี่ยง

2.7 ขอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ส่งออก SMEs เช่นเดียวกับที่เคยมีกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว

2.8 ขอให้หน่วยงานภาครัฐให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมากับผู้ประกอบการ เนื่องจากขณะที่ผู้ส่งออกมีกำไร (PROFIT MARGIN) หรือกำไรขั้นต้นประมาณร้อยละ 5-10 แต่ค่าเงินบาทขณะนี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 8

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กันยายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ