ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 6, 2010 10:22 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การออกประกาศให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ชำนาญการ

พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีอำนาจใช้ดุลพินิจในการประกาศกำหนดโครงการหรือกิจการที่อาจก่อ

ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ในเขตพื้นที่ที่สำคัญ

เพื่อให้การดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

คณะรัฐมนตรีรับทราบความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การออกประกาศให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีอำนาจใช้ดุลพินิจในการประกาศกำหนดโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ในเขตพื้นที่ที่สำคัญ เพื่อให้การดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

ข้อเท็จจริง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอว่า

1. ด้วยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นว่า “จะสามารถออกประกาศในเรื่องการให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีอำนาจกำหนดเขตพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อุทยานแห่งชาติ หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ เป็นเขตพื้นที่ที่โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ซึ่งการดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะกระทำได้หรือไม่”

2. คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาคือ การออกประกาศตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. 2535 จะสามารถกำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีอำนาจใช้ดุลยพินิจในการประกาศกำหนดโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ในเขตพื้นที่ที่มีความสำคัญ เช่น พื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อุทยานแห่งชาติ หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ เพื่อให้การดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ และมีความเห็น ดังนี้

2.1 บทบัญญัติตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดประเภท และขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการแต่ละประเภทและขนาดตามที่กำหนดในประกาศดังกล่าว ประกอบกับมาตรา 13 (9) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและเร่งรัดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ ข้อบัญญัติท้องถิ่น ประกาศ ระเบียบ และคำสั่งที่จำเป็น เพื่อให้กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีความเป็นระบบโดยสมบูรณ์ และมาตรา 48 ประกอบกับมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการมีอำนาจหน้าที่ใน การพิจารณาให้ความเห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

2.2 จากบทบัญญัติข้างต้นจะเห็นได้ว่า ไม่มีบทบัญญัติอื่นใดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่บัญญัติให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ชำนาญการมีอำนาจในการประกาศกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แต่ประการใด จึงเห็นว่า ในการประกาศกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติได้มอบอำนาจให้ฝ่ายบริหาร คือ รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายเป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการ โดยขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการนั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล เร่งรัด และให้ความเห็นชอบต่อการออกประกาศดังกล่าว

2.3 ดังนั้น การออกประกาศตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จึงต้องกระทำโดยรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสาระสำคัญของประกาศต้องเป็นการกำหนดประเภท และขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยไม่อาจกำหนดให้อำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ชำนาญการใช้ดุลยพินิจในการออกประกาศกำหนดโครงการหรือ กิจการดังกล่าวได้ ไม่ว่าโครงหารหรือกิจการนั้นจะเป็นโครงการหรือกิจการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปหรือโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพหรือไม่ ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 46 ประกอบกับมาตรา 13 มาตรา 48 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ