ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 6, 2010 10:50 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง การแต่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

และการแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2553

2. คำสั่งแต่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. และเพิ่มปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2553

3. รับทราบคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (เพิ่มเติมครั้งที่สาม) โดยให้พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ พนักงานเจ้าหน้าที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2553

ข้อเท็จจริง

รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีเสนอว่า

1. นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอุดรธานี รวม 3 จังหวัดดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553

2. โดยที่สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจตกเป็นเป้าการสร้างสถานการณ์ก่อเหตุรุนแรงได้ ส่วน 3 จังหวัดในเขตปริมณฑลเป็นฐานมวลชน นปช.มีการรวมตัวอย่างหนาแน่นเป็นกลุ่มก้อน และเป็นมวลชนส่วนใหญ่ที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ โดยมีข้อสังเกตว่าในพื้นที่เหล่านี้ถูกแสวงหาประโยชน์โดยกลุ่มบ่อนทำลายสถาบันเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ศอฉ.ได้ประเมินสถานการณ์ร่วมกับกองทัพบก กระทรวงมหาดไทย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ปัจจุบันยังคงมีความจำเป็นในการคงสถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่ไว้ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อประโยชน์ในการควบคุมสถานการณ์ในภาพรวม

3. มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ดังนี้

3.1 คำสั่งแต่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. และเพิ่มปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการ

3.2 คำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (เพิ่มเติมครั้งที่สาม)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ