คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เสนอ
1. รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16 ของแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economie Cooperation Program : GMS) ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2553
2. เห็นชอบข้อเสนอแผนการดำเนินงานระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนแผนงาน GMS และมอบหมายหน่วยงานรับไปดำเนินการโดยประสานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) รายงานผลการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสและภาคเอกชนจาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และภาคีการพัฒนาจากภูมิภาคต่างๆ ซึ่งสาระสำคัญหลักของการประชุมระดับรัฐมนตรีในครั้งนี้ คือ แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในทศวรรษหน้า: แนวทางความร่วมมือใหม่ (GMS in the next decade: New Frontiers of Cooperation) โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ผลการประชุมอย่างเป็นทางการของการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16 ได้แก่
1.1 รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมาของแผนงาน GMS ใน 9 สาขา (คมนาคม โทรคมนาคม พลังงาน การอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เกษตร และสิ่งแวดล้อม)
1.2 ให้ความเห็นชอบผลการศึกษาและแผนงาน จำนวน 6 เรื่อง
1.3 รับทราบข้อเสนอจากสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
1.4 รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในทศวรรษหน้า
2. ผลการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรี (Ministerial Retreat) โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ รัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS และผู้ประสานงานของแผนงาน GMS ของ 6 ประเทศ รวมถึงรองประธานและผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย รวม 14 คน ซึ่งที่ประชุมได้หารือประเด็นภาพรวมความก้าวหน้าการพัฒนาแผนงาน GMS และเตรียมความพร้อมสำหรับความร่วมมือในทศวรรษหน้าท่ามกลางบริบทของโลกและภูมิภาคที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง โดยผลการหารือ สรุปได้ดังนี้
2.1 ทุกประเทศเห็นพ้องกันว่า แผนงาน GMS จะต้องรักษาความเป็นเอกภาพร่วมกันของประเทศสมาชิก
2.2 ความร่วมมือ GMS ในทศวรรษหน้า
2.3 แผนงาน GMS ควรจะพิจารณาแนวทางความร่วมมือเพื่อตอบสนองต่อประเด็นเร่งด่วนหรือประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งในระดับโลกและภูมิภาค
2.4 การพัฒนาเส้นทางสายรอง(Feeder Road/Rural Road) เชื่อมโยงพื้นที่ชนบทกับแนวเส้นทางหลักตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ
2.5 การเสริมสร้างศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
2.6 การพัฒนาเมืองและการจัดการสิ่งแวดล้อมของเมือง
2.7 บทบาทของ ADB
3. ข้อเสนอของฝ่ายไทยในการประชุม ได้แก่
3.1 ยืนยันการสนับสนุนของรัฐบาลไทยต่อการดำเนินงานแผนงาน GMS อย่างต่อเนื่อง
3.2 สนับสนุนให้เร่งพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงอนุภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
3.3 เน้นถึงความสำคัญของการดำเนินการเพื่อให้มีการขยายแนวเส้นทางของ SEC ให้ถึงเมืองทวายของพม่า
3.4 ยืนยันการดำเนินงานของไทยเพื่อเร่งรัดกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลง CBTA (Cross Border Transport Agreement) ให้เกิดผลโดยเร็ว
3.5 เสนอให้ ADB ช่วยผลักดันการดำเนินงาน 24 ชั่วโมงของศุลกากร ณ ด่านพรมแดน
3.6 เน้นถึงความสำคัญของความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของอาหาร และความมั่นคงทางพลังงาน
3.7 แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการจากกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาของไทย ในการฝึกอบรมการท่องเที่ยวชุมชน (Community Based Tourism Training Program) แก่สหภาพพม่า และได้ผลักดันให้แผนงาน GMS มีการดำเนินงานเชิงรุกที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน ในขณะเดียวกัน ได้แสดงเจตจำนงในการร่วมมือกับประเทศสมาชิกพัฒนาพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และ Bio-fuels รวมทั้งได้ขอให้ ADB พิจารณาแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวให้มีความยั่งยืนต่อไป
4. ข้อเสนอแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนแผนงาน GMS
4.1 กระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันกระบวนการออกกฎหมาย 5 ฉบับ และให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลง CBTA ที่เหลืออีก 6 ฉบับให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเตรียมข้อเสนอของฝ่ายไทยในการทบทวนเส้นทางที่กำหนดให้ดำเนินงานตามความตกลง CBTA ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน
4.2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ความช่วยเหลือแก่สหภาพพม่าในการฝึกอบรมโครงการท่องเที่ยวชุมชน และอาจพิจารณาขยายความร่วมมือให้แก่ประเทศ GMS อื่น ๆ ที่สนใจรับความช่วยเหลือต่อไป
4.3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกำหนดแนวทางความร่วมมือของประเทศ GMS โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาเกษตรและสาขาสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงนำเสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสแผนงาน GMS และธนาคารพัฒนาเอเชีย
4.4 สภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงของไทย ประสานธนาคารพัฒนาเอเชีย เพื่อเร่งรัดการศึกษารูปแบบกองทุนพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีความเป็นไปได้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป
4.5 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินงานดังต่อไปนี้
4.5.1 ประสานกรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการดำเนินงาน 24 ชั่วโมง ณ ด่านพรมแดน
4.5.2 ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เผยแพร่ความก้าวหน้าของการประชุม และเตรียมความพร้อมในระดับจังหวัดและท้องถิ่นตามแนวทางของแผนงาน GMS ต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 ตุลาคม 2553--จบ--