เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 และการประชุมหารือร่วมรัฐมนตรีและภาคเอกชน ครั้งที่ 1
ภายใต้กรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีของกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 และการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีและภาคเอกชน ครั้งที่ 1 ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 25-26 สิงหาคม 2553 และมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวต่อไป ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) หัวหน้าคณะผู้แทนไทยรายงานผลการประชุมระดับรัฐมนตรีของกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง — ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 และการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีและภาคเอกชน ครั้งที่ 1 ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 25-26 สิงหาคม 2553 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงพาณิชย์ของราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของ สปป.ลาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการวางแผนของสหภาพพม่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ของไทย และรัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการลงทุนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 และการประชุมหารือร่วมรัฐมนตรีและภาคเอกชน ครั้งที่ 1 ภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เห็นชอบแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างลุ่มแม่น้ำโขง — ญี่ปุ่น ประกอบด้วยการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงตลาดนอกภูมิภาค
(2) การอำนวยความสะดวกการค้าและพัฒนาระบบโลจิสติกส์
(3) การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคอุตสาหกรรม
(4) การขยายศักยภาพอุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมใหม่ของอนุภูมิภาค
โดยจะนำเสนอแผนปฏิบัติการ MJ-CI และที่ประชุมเห็นชอบเพิ่มเติม ดังนี้
(1) แผนปฏิบัติการ MJ-CI มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง
(2) ควรจัดทำรายงานความก้าวหน้าและทำการทบทวนแผนปฏิบัติการ MJ-CI ทุก 6 เดือน โดยในการทบทวนรอบต่อไป
(3) ควรจัดทำกรอบเวลาในการดำเนินโครงการให้ชัดเจน เพื่อเป็นองค์ประกอบในการติดตามและประเมินผล
(4) ข้อเสนอแนะของภาคเอกชนต่อแผนปฏิบัติการฯ เป็นส่วนสำคัญที่ภาครัฐของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ควรพิจารณานำไปปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน และให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและศักยภาพของแต่ละประเทศสมาชิก
(5) ญี่ปุ่นควรทำการประสานงานกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) อย่างใกล้ชิดเพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานที่ซ้ำซ้อน
2. เห็นชอบข้อเสนอของภาคเอกชนประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ซึ่งได้บรรจุข้อเสนอส่วนใหญ่ไว้ในแผนปฏิบัติการ MJ-CI แล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) เร่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมที่ยังไม่สมบูรณ์ตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) และแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) การพัฒนาเส้นทางรถไฟการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบนสองฝั่งมหาสมุทร คือ ฝั่งอันดามัน และทะเลจีนใต้
(2) อำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินรถข้ามพรมแดนระหว่างกันอย่างสะดวก การตรวจปล่อย ณ จุดเดียว ลดจำนวนและความซับซ้อนของเอกสารที่เกี่ยวข้อง
(3) ให้ความช่วยเหลือ SMEs เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการเข้าถึงแหล่งเงินโดย จัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Development Fund) และร่วมมือกับสถาบันทางการเงินของญี่ปุ่นโดยใช้แนวทางการปล่อยกู้ต่อ (Two-step loan)
(4) เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพการผลิตในภาคบริการและอุตสาหกรรม ใหม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีการจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรม
(5) ร่วมมือในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุน เช่น การปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราในอนุภูมิภาคและการใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับการค้าชายแดน การเพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
3. ข้อเสนอของฝ่ายไทยในการประชุม
(1) ยืนยันบทบาทการเป็นประเทศผู้ให้ในกรอบความร่วมมือนี้ โดยเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือร่วมกับญี่ปุ่นในการพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยได้เน้นถึงการดำเนินงานของไทยในการให้ความช่วยเหลือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน และศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาค
(2) แจ้งผลการดำเนินงานของไทยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในด้านต่างๆ ดังนี้
1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยไทยได้ให้ความเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน รวมวงเงินประมาณ 4,200 ล้านบาท ได้แก่ (1) เส้นทางหมายเลข 11 ใน สปป.ลาว วงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท เป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (2) เส้นทางรถไฟท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ใน สปป.ลาว วงเงินประมาณ 1,650 ล้านบาท เป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (3) การพัฒนาเส้นทาง EWEC ฝั่งตะวันตกเชื่อมโยงสหภาพพม่าวงเงินประมาณ 1,166 ล้านบาท เป็นเงินให้เปล่า
2) การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยสถาบันสิ่งทอของไทยได้ตอบตกลงจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปถ่ายทอดความรู้ให้กับพม่า
3) การผลักดันกระบวนการภายในประเทศเพื่อสนับสนุนการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดน โดยไทยได้ให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้าย (Annexes and Protocols) ภายใต้ความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Cross Border Transport Agreement: CBTA) เพิ่มเติมอีก 3 ฉบับทำให้ไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้วจำนวน 14 ฉบับ และเหลืออีกเพียงจำนวน 6 ฉบับ
(3) เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์กับญี่ปุ่น ในเรื่องที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ
(4) ขอให้ญี่ปุ่นร่วมมีบทบาทที่แข็งขันในการพัฒนาอนุภูมิภาค ในด้านการพัฒนาโครงข่ายระบบราง โดยเฉพาะในสหภาพพม่า การให้ความช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพบุคลากรของประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และสหภาพพม่า ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงตลาดญี่ปุ่น รวมถึงการเสนอให้ญี่ปุ่นเข้ามาส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ของอนุภูมิภาค
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 ตุลาคม 2553--จบ--