คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความคืบหน้าการจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 10-18 กรกฎาคม 2554 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 42 ทางสื่อภายในและ ต่างประเทศตามความเหมาะสม ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานความคืบหน้าการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 42 พ.ศ. 2554 (42nd International Physics Olympiad 2011) ซึ่งจะจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระหว่างวันที่ 10-18 กรกฎาคม 2554 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ศธ. ได้มีคำสั่งที่ 417/2553 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อร่วมกันรับผิดชอบงานด้านต่างๆ จำนวน 14 คณะ ทั้งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงรับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ และท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม รับเป็นรองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
2. คณะที่เดินทางไปรับมอบการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ครั้งที่ 42 ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ เย็นใจ สมวิเชียร เหรัญญิกมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ นางดวงสมร คล่องสารา รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้าร่วมในพิธีปิดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 41 ที่ประเทศโครเอเชีย ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 17-25 กรกฎาคม 2553 โดยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว เป็นผู้แทนในการรับมอบและกล่าวเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 42 ที่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้มีการจัดส่งคณาจารย์ร่วมเดินทางไปกับคณะผู้แทนประเทศที่ไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 41 ที่ประเทศโครเอเชีย เพื่อศึกษารูปแบบการจัดงาน ประกอบด้วยคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ โรงเรียนเตรียม อุดมศึกษา และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
3. คณะอนุกรรมการดำเนินงานได้รวบรวมรายชื่อประเทศที่เคยเข้าแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ผ่าน ๆ มา และรายชื่อประเทศที่จะขออนุมัติ IPhO advisory committee (International Physics Olympiad advisory committee) เพื่อเชิญเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ทั้งนี้คาดว่าจะมีนักเรียนมาร่วมการแข่งขันจาก 90 ประเทศ จำนวนประมาณ 400 คน และมีอาจารย์ ผู้สังเกตการณ์ และผู้ติดตามประมาณ 300 คน
4. การเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านวิชาการ สถานที่สำหรับการจัดการแข่งขัน การจัดทำโปสเตอร์และเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์การแข่งขัน การเตรียมนิสิต นักศึกษาพี่เลี้ยงดูแลผู้มาร่วมการแข่งขัน การจัดทัศนศึกษาให้แก่ผู้มาร่วมการแข่งขัน การเตรียมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารในการแข่งขันและการเตรียมการประชาสัมพันธ์การแข่งขัน
5. ความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การจัดงานครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จำเป็นต้องขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
- กรุงเทพมหานคร ในการเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรองผู้เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะเจ้าเมือง และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร
- ท่าอากาศยาน ในการอำนวยความสะดวกการรับ-ส่ง ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน
- การบินไทย ในการเป็นสายการบินหลักสำหรับการเดินทางของผู้เข้าร่วมการแข่งขัน การประชาสัมพันธ์ และอนุเคราะห์ตั๋วโดยสารราคาพิเศษสำหรับประชาชน IPhO เลขานุการ IPhO และผู้แทนจากบางประเทศ
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการเดินทางระหว่างการแข่งขัน การรักษาความปลอดภัย
- สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการอำนวยความสะดวกตรวจตราวีซ่า
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับทัศนศึกษา
- กระทรวงการต่างประเทศ ในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประเทศใหม่ ๆ เข้าร่วมการแข่งขันฯ และการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจตราวีซ่า
- บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ด้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารระหว่างกรรมการในการปฏิบัติงาน
- การไฟฟ้านครหลวง ในการสำรองไฟฟ้าสำหรับการประชุมและการแข่งขัน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 ตุลาคม 2553--จบ--