การรับรอง Paracas Declaration

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 6, 2010 14:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับรองปฏิญญาปาราคัส (Paracas Declaration) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ความเป็นมา

1) คณะทำงานภายใต้ APEC ทางด้านที่เกี่ยวข้องทางทะเลประกอบด้วย 2 คณะทำงานได้แก่ คณะทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (Marine Resource Conservation Working Group, MRCWG) จัดตั้งในปี 2533 และคณะทำงานด้านประมง (Fisheries Working Group, FWG) จัดตั้งในปี 2534 มีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยมีแนวทางยุทธศาสตร์อนุรักษ์และจัดการอย่างยั่งยืนบนพื้นฐาน Integrated Management, Cooperation, Capacity Building, Harmonization

2) คณะทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองและให้ความเห็นชอบต่อแผนการและโครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในกลุ่มสมาชิกของเอเปค รวมทั้งการกำหนดมาตรการและท่าทีในด้านการบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลของสมาชิกและการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในภูมิภาค ตลอดจนเสนอแนะมาตรการและนโยบายต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี และที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ตามลำดับ โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นคณะทำงานและผู้ประสานงานหลัก

3) คณะทำงานด้านประมง มีหน้าที่ดูแลจัดการในเรื่องการประมง การเพาะเลี้ยง ให้ได้ผลผลิตที่เหมาะสมทางเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ของชุมชนในสมาชิกเขตเศรษฐกิจ โดยต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์และความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากร ตลอดจนเสนอแนะมาตรการและนโยบายต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี และที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ตามลำดับโดยมีกรมประมงเป็นคณะทำงานและผู้ประสานงานหลัก

4) การประชุมรัฐมนตรี 1st APEC Oceans-related Ministerial Meeting, AOMM-1 จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 22 — 26 เมษายน 2545 ณ สาธารณรัฐเกาหลี มีนายอุดม ปาติยเสวี ผู้เชี่ยวชาญด้านประมงทะเล กรมประมง เป็นผู้แทนประเทศไทย และมีการรับรอง Seoul Ocean Declaration

5) การประชุม AOMM-2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2549 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีนายวีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมประชุม และได้พิจารณาเห็นชอบแผนปฏิบัติการบาหลี (Bali Plan of Action) ซึ่งมีแนวทางหลัก 3 ประการ คือ 1) การสร้างความมั่นใจร่วมกันในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน 2) การใช้ประโยชน์จากทะเลเพื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และ 3) การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาชุมชนชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน

6) สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือ นำส่งสำเนาหนังสือกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องการประชุม 3rd APEC Oceans-related Ministerial Meeting, AOMM-3 ซึ่งรัฐบาลสาธารณรัฐเปรูจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ เมืองปาราคัส (Paracas) สาธารณรัฐเปรู ในระหว่างวันที่ 11- 12 ตุลาคม 2553 ภายใต้หัวข้อ “Healthy Oceans and Fisheries Management towards Food Security และหัวข้อหลักในการหารือใน 4 หัวข้อ คือ 1) The Oceans in Food Security 2) Sustainable Development and Protection of the Marine Environment 3) Promote fair and equitable trade และ 4) Effects of Climate Change on the Oceans โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองปฏิญญาปาราคัส (Paracas Declaration)

1.2 ผลการดำเนินงาน

1) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0402.4/1304 ลงวันที่ 24 กันยายน 2553 เสนอองค์ประกอบผู้แทนไทยไปเข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

2) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีหนังสือถึงกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ขอให้พิจารณาร่าง Paracas Declaration และขอทราบขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อรับรองร่างดังกล่าว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กต 0802/827 ลงวันที่ 23 กันยายน 2553 พิจารณาให้ความเห็น ดังนี้

2.1) สาระสำคัญของร่าง Paracas Declaration เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองด้าน สิ่งแวดล้อมในเรื่อง (1) มหาสมุทรและความมั่นคงทางอาหาร (2) การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล (3) การส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม และ (4) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในมหาสมุทร โดยสร้างความตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน และเน้นการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก การส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก การส่งเสริมความร่วมมือเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมิได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งจะไม่มีการลงนามในเอกสารดังกล่าว จึงไม่เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาในทางกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 190 ประกอบคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา

2.1) อย่างไรก็ดี เอกสารข้างต้นอาจมีผลผูกพันรัฐบาลไทยในแง่นโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบุมาตรการที่รัฐมนตรีได้ตกลงร่วมกัน (Agreed Actions) ในการเรียกร้องให้ประเทศในเขตเศรษฐกิจ APEC เข้าร่วมในความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยยังไม่เป็นภาคี อาทิ Agreement on Port State Measures to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือเรียกร้องให้ปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานในกรอบ UNEP’s Global Programme of Action for the Protection of the Marine Environment from land-based activities เป็นต้น จึงควรเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบด้านนโยบายก่อนให้การรับรองโดยที่ประชุมระดับรัฐมนตรีฯ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (7)

1.3 ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ

การรับรอง Paracas Declaration เป็นการยืนยันเจตนารมณ์การดำเนินงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร ตามแผนปฏิบัติการบาหลี และขยายระยะเวลาแผนปฏิบัติการดังกล่าวจนถึงปี 2558 และโดยมีการเสริมสร้างการดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่อง 1) บทบาทของมหาสมุทรในด้านความมั่นคงทางอาหาร 2) การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล 3) การส่งเสริมการเปิดการค้าและการลงทุนอย่างเสรี และ 4) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อมหาสมุทร ซึ่งจะส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยเน้นการจัดการเชิงระบบนิเวศ ช่วยให้ประเมินศักยภาพและการบริหารจัดการเป็นไปอย่างถูกต้อง เน้นการทำประมงระหว่างประเทศโดยชอบธรรม การทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาผู้นำเอเปค 2552 ตามยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตระยะยาว (Long Term Growth Strategy: balanced growth, inclusive growth, sustainable growth, innovative growth and secure growth)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 ตุลาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ