คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นชองประชาชนเกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียง พ.ศ. 2553 ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สรุปได้ดังนี้
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียง พ.ศ. 2553 โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1-15 พฤษภาคม 2553 จากประชาชนตัวอย่าง ทั้งสิ้น 5,800 คน แบ่งเป็นประชาชนตัวอย่างในเขตเทศบาล 2,240 คน นอกเขตเทศบาล 3,560 ซึ่งมีสาระสำคัญ สรุปดังนี้
1. การทราบถึงโครงการชุมชนพอเพียง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.7 ระบุว่าทราบ (โดยทราบจากสื่อโทรทัศน์มากที่สุด ร้อยละ 56.6 รองลงมากำนัน / ผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 31.9 และผู้นำชุมชน ร้อยละ 25.9) มีเพียง ร้อยละ 15.3 ระบุว่าไม่ทราบ
2. การเข้าร่วมประชุมประชาคมคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน พบว่า ประชาชนที่ทราบถึงโครงการชุมชนพอเพียง ระบุว่าหมู่บ้าน / ชุมชนได้มีการประชุมประชาคมคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน ร้อยละ 78.6 (โดยได้เข้าร่วม ร้อยละ 73.1 และไม่ได้เข้าร่วม ร้อยละ 26.9) ส่วนอีกร้อยละ 21.4 ระบุว่าหมู่บ้าน / ชุมชนยังไม่มีการประชุมประชาคมคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน
3. การเข้าร่วมประชุมประชาคมคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียง พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน / ชุมชน ได้มีการประชุมประชาคมคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน ระบุว่าหมู่บ้าน / ชุมชนได้มีการประชุมประชาคมคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียง ร้อยละ 98.7 (โดยไม่เข้าร่วม ร้อยละ 75.1 และไม่ได้เข้าร่วม ร้อยละ 24.9) ส่วนอีกร้อยละ 1.3 ระบุว่าหมู่บ้าน / ชุมชนยังไม่มีการประชุมประชาคมคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียง
4. โครงการชุมชนพอเพียงที่หมู่บ้าน / ชุมชนได้คัดเลือกเพื่อดำเนินการ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเกษตรมากที่สุดร้อยละ 33.4 รองลงมาสาธารณูปโภค ร้อยละ 27.4 การส่งเสริมอาชีพ ร้อยละ 23.6 สวัสดิการชุมชน ร้อยละ 20.7 ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานหรือพลังงานทดแทน ร้อยละ 6.6 ส่งเสริมการคุ้มครองรักษา ป่า น้ำ ดิน ร้อยละ 3.7 และส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ร้อยละ 2.0 ตามลำดับ
5. โครงการชุมชนพอเพียงที่หมู่บ้าน / ชุมชนจัดทำขึ้นตรงตามความต้องการ พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน / ชุมชนมีการประชุมประชาคมส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.5 ระบุว่า ตรงตามความต้องการ มีร้อยละ 23.5 ระบุว่าไม่ตรงตามความต้องการ โดยได้ให้เหตุผลได้แก่ ความต้องการของคนในหมู่บ้าน / ชุมชนมีหลากหลาย และขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการ เป็นต้น
6. วิธีการดำเนินงานโครงการชุมชนพอเพียง พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน / ชุมชนมีการประชุมประชาคม ส่วนใหญ่ ระบุว่าทำเองทั้งหมด ร้อยละ 37.6 ส่วนที่ระบุว่าทำได้แต่ต้องมีคนแนะนำ / ให้คำปรึกษา ร้อยละ 17.0 สำหรับที่ระบุว่าทำเองได้แต่ต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน ร้อยละ 14.9 และทำเองไม่ได้ต้องให้หน่วยงานอื่นทำ มีเพียงร้อยละ 1.9
7. ปัญหา / อุปสรรคในการดำเนินงานโครงการชุมชนพอเพียง พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน / ชุมชนมีการประชุมประชาคม ประมาณร้อยละ 57.5 ระบุว่าไม่มีปัญหา / อุปสรรคในการดำเนินโครงการ ส่วนผู้ที่ระบุว่ามีปัญหา มีเพียงร้อยละ 10.7 (ซึ่งปัญหา/อุปสรรค ได้แก่ อนุมัติงบล่าช้า และงบประมาณได้มาไม่เพียงพอ เป็นต้น) และไม่ทราบ / ไม่แน่ใจ ร้อยละ 31.8
8. ประโยชน์ของโครงการชุมชนพอเพียง พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน / ชุมชนมีการประชุมประชาคมส่วนใหญ่ ระบุว่ามีประโยชน์ในเรื่องของคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของครัวเรือนดีขึ้น ร้อยละ 44.4 สร้างงาน / อาชีพ ร้อยละ 40.3 สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน / พึ่งพาตนเองได้ ร้อยละ 37.5 การสร้างรายได้ของครัวเรือน ร้อยละ 35.9 สร้างความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 27.9 และเสริมสร้างการเรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตย ร้อยละ 6.8 ตามลำดับ
9. ความพึงพอใจต่อโครงการชุมชนพอเพียง พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน / ชุมชนมีการประชุมประชาคม ระบุว่าพึงพอใจต่อโครงการชุมชนพอเพียงในระดับปานกลางถึงมาก ร้อยละ 83.7 (โดยพอใจปานกลาง ร้อยละ 61.1 และพอใจมาก ร้อยละ 22.6) มีร้อยละ 16.3 ที่ระบุว่าพึงพอใจน้อยถึงไม่พึงพอใจ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 ตุลาคม 2553--จบ--